โฆษก กมธ.ยกร่าง รธน.แถลงผลประชุม อนุมัติคำสั่งอนุฯ รายงาน กมธ. ชี้ความเห็นอนุฯ ไม่ใช่ข้อยุติ ขอสื่ออย่าทำสับสน แจงผลอนุฯ คณะ 2 เลิกประหารแต่ กมธ.ไม่หนุน อนุฯ คณะ 7 เสนอ ทบทวนอำนาจศาล รธน. คดีอาญานักการเมืองเริ่มศาลอุทธรณ์ แก้คุณสมบัติผู้พิพากษา เริ่มอายุ 35 เกษียณ 60 ปฏิรูปอัยการ ห้าม อสส.นั่ง ปธ.กก.อัยการ-กมธ.ปฏิรูปพลังงานตั้งอนุฯ เพิ่ม 4 ชุด ดูสัมปทานพลังงานรอบ 21
วันนี้ (3 ธ.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้อนุมัติคำสั่งอนุกรรมาธิการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และให้คณะอนุกรรมาธิการ 10 คณะ รายงานต่อกรรมาธิการฯ ซึ่งถือเป็นกรอบเบื้องต้นที่ยังไม่ได้นำความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครม. 6 พรรคการเมือง กลุ่ม กปปส. หรือหน่วยงานอื่นมาพิจารณาประกอบ ดังนั้นความเห็นที่มีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของประธานอนุกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ในรูปแบบเยอรมัน การเลือกนายกฯ โดยตรง หรือเรื่องขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ยังไม่ใช่ข้อสรุปของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน
“ข้อเสนอของประธานอนุกรรมาธิการยกร่างเมื่อสื่อนำเสนอทำให้มีความเข้าใจผิดว่าเป็นข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงขอความร่วมมือจากสื่อด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เพราะข้อเสนอเหล่านั้นยังไม่ใช่ข้อยุติ” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
สำหรับการประชุมวันนี้ได้รับรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 2 โดยได้นำรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาเป็นข้อมูลพื้นฐานดำเนินการ และนำตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญในอดีต เพื่อให้รัฐธรรมนูญถาวรที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามกติกาของสากลจำนวน 9 ฉบับ และกำหนดกรอบในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพของพลเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
นอกจากนี้ อนุกรรมาธิการคณะที่ 2 โดยเสียงส่วนใหญ่ การลงโทษด้วยวิธีการประหารชีวิตจะกระทำมิได้ แต่กรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วยเพราะมีความผิดอาญาร้ายแรง เชน ฆ่าข่มขืน ค้ายาเสพติด ฆาตกรต่อเนื่อง จึงควรที่จะคงโทษประหารชีวิตไว้
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 7 ได้เสนอให้คง 4 ศาลไว้คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่าให้มีการทบทวนคำวินิจฉัยได้ใน 2 แนวทาง คือ เริ่มคดีที่ศาลอุทธรณ์ และให้มีการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินไปแล้ว ส่วนคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ของศาลให้คงหลักการตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการฯให้มีตัวแทนจากศาล คู่ขัดแย้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร เป็นองค์คณะด้วย นอกจากนี้เสนอให้เพิ่มองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของกฎหมายมหาชน และรัฐธรรมนูญ เพราะในปัจจุบันมีองค์ประกอบจากศาลถึง 5 คน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการเพิ่มองค์คณะจากปัจจุบัน 9 คนหรือไม่และให้การสรรหายึดโยงกับประชาชนมากขึ้น
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า มีการอภิปรายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก เพราะการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคดี 16 ประเภท แต่คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร จึงต้องดูว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้มีบทลงโทษหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องดูให้ครบว่ามีเจตนาจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของศาลยุติธรรมมีสองประเด็น คือ กำหนดให้คดีทั่วไปสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ เพื่อลดคดีในศาลฎีกาทำให้ตัดสินได้เร็วขึ้น และให้มีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้พิพากษาจากกำหนดอายุ 25 ปี เป็น 35 ปี และให้เกษียณอายุที่ 60 ปีเหมือนข้าราชการอื่น เว้นแต่ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสที่จะไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ ก็ให้เกษียณอายุที่ 70 ปี สำหรับการปฏิรูปอัยการมีการพิจารณาเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการ ซึ่งมีการเสนอว่าอัยการสูงสุดไม่ควรเป็นประธานคณะกรรมการอัยการ
นอกจากนี้ยังเสนอว่ากระบวนการยุติธรรมต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ล่าช้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เป็นธรรมต่อประชาชน เที่ยงธรรม มีบรรทัดฐานในการดำเนินคดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ 2 ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือก กระบวนการยุติธรรมชุมชน 3 ให้มีหน่วยงานกลางกำหนดนโยบายเรียกว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายกระบวนการยุติธรรมระดับชาติ 4 สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 5 ให้เพิ่มบทบาทกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส
วันเดียวกันนี้ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล โฆษก กมธ.ปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า นายฉัตรทอง หงศ์ลดารมภ์ ประธาน กมธ.ได้แต่งตั้งอนุ กมธ.อีก 4 ชุด คือ 1. คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรปิโตรเลียมและราคาพลังงาน 2. คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปการบริหารและการกำกับกิจการพลังงาน สารสนเทศ 3. คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปกิจการไฟฟ้า 4. คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงาน ขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ (1. พิจารณากรอบร่างรัฐธรรมนูญด้านการปฏิรูปพลังงาน ซึ่ง กมธ.ได้เสนอกรอบร่างรัฐธรรมนูญด้านการปฏิรูปพลังงานต่อสภาการปฏืรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ (2. พิจารณาการยื่นคำขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลงสำรวจ และพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันชนิดต่างๆโดยจะเชิญภาครัฐ ผู้ประกอบการ และนักวิชาการด้านพลังงานมาให้ข้อมูลประกอบการพ้จารณาของ กมธ.และอนุ กมธ. โดยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนและความมั่นคงด้านพลังงานของชาติต่อไป