xs
xsm
sm
md
lg

พฤหัสบดีนี้ชี้ขาด “ภาษีมรดก” เตรียมแก้รายละเอียดคุ้มครองคนระดับล่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ (ภาพจากแฟ้ม)
วิป สนช. เผยพฤหัสบดีนี้พิจารณาร่างภาษีมรดก ส่วนเกิน 50 ล้าน หัก 10% คาดแก้ไขรายละเอียดคุ้มครองคนระดับล่าง ชมรัฐบาลกล้าหาญ เหตุหลายรัฐบาลผลักดันเป็นจริงไม่ได้ พร้อมเตรียมพิจารณาร่างกฎหมายรองรับการปฏิบัติหน้าที่บอร์ดตามคำสั่ง คสช.

วันนี้ (2 ธ.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวิป สนช. ว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 4 ธ.ค. จะพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่ง ครม. เป็นผู้เสนอวาระแรก โดยหลักการคือ การหักภาษีจากมรดก 10 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งวิป สนช. หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากเกษตร ชาวนา ที่ได้รับมรดกเป็นที่ดินหรือที่นา อาจไม่มีเงินเสียภาษี และในกรณีที่ได้รับโอนที่ดินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หากในอนาคตข้างหน้าที่มีการประเมินราคาที่ดินทำให้ราคาสูงขึ้นเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีแต่ไม่สามารถเสียได้ อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน ทำให้คนจนไม่สามารถถือครองที่ดินได้ จึงต้องขายที่ดินให้คนรวยหรือนายทุน

นอกจากนี้ หากกฎหมายฉบับมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้สร้างรายได้ไม่มากนัก และขาดการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม ดังนั้น คงจะมีการแก้ไขในรายละเอียด เพื่อให้คุ้มครองคนระดับล่าง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 30 คน มาจากกรรมาธิการสามัญ 16 คณะ และสัดส่วนจาก ครม. ซึ่งคาดว่าคงจะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความกล้าหาญของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีความพยายามเสนอมาหลายรัฐบาลแต่ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จได้ เนื่องจากมีผู้คัดค้าน ยืนยันไม่มีการล็อบบี

นพ.เจตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ พ.ศ. ... โดยมีเนื้อหารับรองประกาศหรือคำสั่งที่ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการหรือบอร์ด จำนวน 5 ชุด คือ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี, คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน เพราะคณะกรรมการชุดเก่ายังไม่ได้ยกเลิก ซึ่งอาจจะมีปัญหากับคณะกรรมการชุดใหม่จึงต้องออกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมา ให้มีสถานะเทียบเท่ากฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น