xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปการเมือง เสียงแตก โกงเลือกตั้งยุบพรรค-สังกัดพรรค ชี้ ไม่ใช่เวลาล้างผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ปฏิรูปการเมือง สรุปเรื่องระบบพรรคการเมือง 6 ประเด็น เสียงแตกยุบพรรค กก.บห. โกงเลือกตั้ง ต้องสังกัดพรรคการเมือง แย้มชง 3 ประเด็นบรรจุ รธน. ห้ามพรรค - กลุ่มการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ชี้ไม่ใช่เวลาล้างผิด เหตุอนุฯเสนอก็เริ่มไม่ไว้วางใจ รับนิรโทษส่วนหนึ่งปรองดอง แต่คนผิดก็ต้องรับโทษ


วันนี้ (1 ธ.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง แถลงหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงข้อเสนอแนะของอนุกรรมาธิการปฏิรูปพรรคการเมืองและอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเรียนรู้ โดยมีข้อสรุปในเรื่องระบบพรรคการเมือง 6 ประเด็น คือ 1. จะต้องพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ โดยการส่งสมาชิกพรรคลงเลือกตั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคในพื้นที่นั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้าแทรกแซง 2. พรรคการเมืองมีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติ 3. การยุบพรรคทำได้เฉพาะกรณีพรรคการเมืองทำความผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เป็นภัยต่อความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ แต่ในกรณีหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคกระทำทุจริตเลือกตั้งตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 50 มีความเห็นแตกเป็น 2 แนวทาง คือ เห็นด้วยให้มีการยุบพรรคได้ กับ ไม่ควรยุบพรรคการเมืองในกรณีดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงควรให้เป็นความผิดเฉพาะตัว 4. ต้องมีการสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐอย่างเหมาะสมและยุติธรรม 5. มีองค์กรตรวจสอบจริยธรรมพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6. นักการเมืองต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ก็มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็นว่านักการเมืองจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ เพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในอาณัติของฝ่ายนายทุนพรรค อย่างไรก็ตามต้องมีองค์กรควบคุมนักการเมือง ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาข้อเสนอของอนุกรรมาธิการด้านการปฏิรูป การเรียนรู้ การปรองดอง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองชองประชาชน ในเบื้องต้นมี 3 ประเด็นที่เห็นว่าควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ 1. บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการศึกษาเรียนรู้ทางการเมืองตามสิทธิและหน้าที่พลเมืองโดยต้องกำหนดให้มีองค์กรรับผิดชอบที่ชัดเจนซึ่งที่ประชุมพูดถึงว่าอาจจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ กกต. ที่ก็ทำเรื่องในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย และต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 2. รัฐต้องส่งเสริมให้มีกระบวนการและกลไกสร้างความปรองดองเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ ทั้งยามปกติและกรณีที่เกิดความขัดแย้ง มีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปรองดอง และห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองสร้างความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน 3. บุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในการมีส่วนร่วมการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะและของรัฐ โดยส่งเสริมให้มีการตั้งสภาพลเมืองให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งรัฐต้องจัดให้มีระบบและกลไกส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

ทั้งนี้ นายประสาร ยังกล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรม โดยเห็นว่าไม่ใช่เวลาที่จะพูดเรื่องดังกล่าวในขณะนี้ เนื่องจากเมื่อมีการเสนอเรื่องดังกล่าวจาก นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหมวดการปฏิรูปและความปรองดอง ก็เริ่มมีบรรยากาศความไม่ไว้วางใจจากกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ถูกมองว่าอาจมีการสอดไส้การนิรโทษกรรมเข้ามา แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นว่าควรมีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาก็ตาม แต่คิดว่าควรจะรอเวลาที่เหมาะสมก่อน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสร้างความปรองดองแต่ก็มีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ผู้กระทำผิดทางอาญาจะได้รับการนิรโทษกรรมก็ต้องเข้าสู่เงื่อนไขการยอมรับผิด การสู่กระบวนการยุติธรรม และการรับโทษจึงค่อยไปสู่ขั้นตอนการนิรโทษกรรม

สำหรับการประชุมในวันพรุ่งนี้ (2 ธ.ค. 57) ที่ประชุมกรรมาธิการจะมีการหารือเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่มีข้อเสนอจากอนุกรรมาธิการด้านการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง กลไกเลือกตั้งและโครงสร้างขององค์กรอิสระ โดยประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาคือ เรื่องรูปแบบการเลือกตั้งที่มีการเสนอให้เลือกคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีโดยตรง


กำลังโหลดความคิดเห็น