กสม. โวยตำรวจหัวหมอแจงซ้อมผู้ต้องหาเกาะเต่าตั้งก่อนวันสิ้นปีนานไป ชง 3 วันต้นเดือนธันวาฯ ให้เลือก ชี้ยิ่งเนิ่นนานตอบคำถามสังคมไม่ได้ ติง คสช. ไม่ควรใช้กฎอัยการศึกปิดปากการแสดงความคิดเห็น ชี้เป็นยาแรงใช้ผิดฝาผิดตัว พร้อมระบุมี กม. อื่นที่สามารถใช้ดูแลได้ ขณะเดียวกัน แนะรัฐต้องแยกให้ออกระหว่างงคนต่อต้านจ้องจะล้มรัฐบาล กับคนต่อต้านเพื่อแสดงสิทธิเสรีภาพในการปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (24 พ.ย.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวภายหลังการประชุมอนุกรรมการด้านสิทธิการเมืองสิทธิพลเมืองกรณีอนุกรรมการขอให้ชุดสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี มาชี้แจงในประเด็นผู้ต้องหาชาวพม่าถูกซ้อมทรมานขณะจับกุม ในวันนี้ (24 พ.ย.) ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนได้ประสานว่าจะมาชี้แจงต่ออนุกรรมการในวันที่ 29 ธ.ค. ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะอนุกรรมการขอให้มาชี้แจงในวันนี้ ดังนั้น ในการหารือของที่ประชุมอนุกรรมการวันนี้เห็นว่า วันดังกล่าวอนุกรรมการไม่ได้มีการประชุม และหากปล่อยเวลาให้เนิ่นไปขนาดนั้น ก็จะยิ่งไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ รวมทั้งขณะนี้ก็เหลือเพียงรอการชี้แจงจากตำรวจเพียงอย่างเดียว
ที่ประชุมจึงเห็นว่าจะมีหนังสือแจ้งกลับไปยัง พล.ต.ต.สุวัฒน์ ขอให้มาชี้แจงในวันจันทร์ที่ 1 ธ.ค., 4 ธ.ค. หรือ 8 ธ.ค. โดยให้ทางฝ่ายตำรวจสามารถเลือกวันที่จะเข้าชี้แจงได้ ทั้งนี้หากทาง พล.ต.ต.สุวัฒน์ ต้องการจะชี้แจงเป็นเอกสารก็สามารถทำได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าการชี้แจงด้วยวาจาน่าจะดีกว่า เพราะคำถามก็ไม่มีอะไรซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กสม. ในวันที่ 26 พ.ย. ที่เดิมคณะอนุกรรมการจะเสนอต่อ กสม. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจ กรณีที่ไม่มาชี้แจงนั้นทางอนุกรรมการก็จะยังไม่มีการเสนอ เพราะเห็นว่าทางตำรวจไม่ได้มีท่าทีที่จะปฏิเสธการชี้แจง โดยในวันที่ 25 พ.ย. อนุกรรมการจะมีหนังสือแจ้งไปยัง พล.ต.ต.สุวัฒน์ ขอให้มาชี้แจงตามวันเวลาที่ได้แจ้งไป และคาดว่าในสัปดาห์นี้ก็จะได้ทราบว่า พล.ต.ต.สุวัฒน์ จะเข้ามาชี้แจงในวันใด
นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงกรณีกระแสความไม่พอใจในรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้ว ว่า เบื้องต้นยังไม่มีใครที่ร้องเรียนเข้ามายัง กสม. ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อมีการแสดงดังกล่าว ออกทางสำนักงาน กสม. ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือดูแล ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลเมื่อมีการควบคุมแล้วก็จะมีการปล่อยตัว แต่ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า วัฒนธรรมการแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชนในช่วง 2-3 ปีเปลี่ยนไปมาก จะไปเทียบกับ 14 ต.ค. 16 หรือ 6 ต.ค. 19 ไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมการแสดงออกปัจจุบันมีความชัดเจน โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมาย ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญ 50 ที่รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจะถูกยกเลิกไป แต่วัฒนธรรมการแสดงออกของประชาชนก็กลับไม่ได้หายไปด้วย ตรงกันข้าม มีการตื่นตัวมาก และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การปฏิรูปและการมีส่วนร่วมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ก็ล้วนเป็นประเด็นที่นำมาสู่การปฏิรูปประเทศในขณะนี้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม โดยตนเห็นว่ารัฐบาล และ คสช. ต้องรับรู้และยอมรับในข้อเท็จจริงนี้
นพ.นิรันดร์ ยังกล่าวด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง การนำกฎอัยการศึกมาบังคับใช้กับการแสดงออกของประชาชนมันผิดฝาผิดตัว ซึ่งผมพูดมาตลอดว่ากฎอัยการศึกเป็นยาแรง ไม่สามารถใช้รักษาได้ทุกโรค การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องไม่ใช้กฎอัยการศึกในการควบคุม เพราะมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ให้การรับรองในเรื่องของสิทธิเสรีภาพไว้ด้วยเช่นกัน การที่รัฐบาลจะเข้าไปดูแลควบคุมเรื่องนี้ ก็ควรต้องดูว่า การใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกนั้น มันกระทบสิทธิผู้อื่นหรือไม่ เช่น มีการด่าว่าใคร หรือยุยงให้แตกกันหรือไม่ ถ้าไม่ใช่รัฐบาลก็ต้องให้การคุ้มครองเพื่อตอกย้ำว่ามาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใช้ได้จริง โดยถ้าการแสดงออกความคิดเห็นนั้น เป็นไปด้วยเหตุด้วยผล มีการชุมนุมอยู่ในกรอบ มีการเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการตาม มหาวิทยาลัย รัฐบาลยิ่งต้องช่วยกันส่งเสริม ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปได้อย่างไร ทุกวันนี้ประเทศมีปัญหาในทุกด้าน การจะปฏิรูปประเทศ ก็ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่ง คสช. ก็กำหนดให้กลไกของ สปช. และ สนช. เป็นผู้รวบรวมและตัดสินใจ แต่ก็ไม่ใช่เอาความคิดเห็นของ สปช. และ สนช. เป็นหลักในการนำไปสู่การปฏิรูปเพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้จะเรียกว่าปฏิรูปได้อย่างไร แต่ต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหา จึงจะไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ได้
“ในฐานะกรรมการสิทธิก็มีความกังวลว่ารัฐบาล และ คสช. กำลังใช้ยาที่ผิดขนาด ในการแก้ไขปัญหา การที่ใช้ยาแรงเกินไปจะทำให้คนปกติเสียชีวิตได้ แทนที่จะกำจัดโรคร้าย ทำลายเชื้อโรค เราอาจจะต้องเสียคนดีๆ ไป รัฐบาลและ คสช. ควรจะเลือกยาให้เหมาะสม ไม่ใช่วใช้สุ่มสี่สุ่มห้า ต้องแยกให้ออกระหว่างคนที่ต่อต้านจ้องจะล้มรัฐบาล กับคนที่ต่อต้านเพื่อแสดงสิทธิเสรีภาพในการปฏิรูปประเทศ จริงอยู่ที่ผ่านมา เรามีการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต จนทำให้เกิดความรุนแรง และนำไปสู่อนาธิปไตย ซึ่งเราก็จะไม่อยากให้สถานการณ์มันวนกลับไปในจุดอย่างนั้นอีก แต่ถ้าไม่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเลยก็จะตกเป็นทาส และจะถือว่าสุดโต่งเกินไป” นพ.นิรันดร์ กล่าว
นอกจากนี้ เห็นว่า ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้กฎหมายอื่นในการเข้าไปควบคุมดูแลการแสดงออกที่เห็นว่าเกินขอบเขตได้ เช่น การใช้กฎหมายห้ามกระจายเสียง หรือโฆษณาเข้าไปดูแล หรือจะออกเป็นประกาศคำสั่งของ คสช. ออกมาก็ได้ว่า ถ้าจะแสดงออก จัดเวที อะไรควรทำหรือไม่ทำ เพราะตอนนี้ถือว่า คสช. เป็นกรรมการที่สามารถออกกฎเกณฑ์อะไรก็ได้เพื่อที่จะให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนตัวมองว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐก็อึดอัดที่จะบังคับใช้กฎอัยการศึก เพราะกฎอัยการศึดูแลสถานการณ์ไม่ได้ทั้งหมด สามารถบังคับใช้กับเหตุการณ์บางเหตุการณ์ได้เท่านั้น เช่น กรณีการเกิดสงคราม มีการใช้อาวุธ กฎอัยการศึก เหมาะสมที่จะนำมาใช้ แต่หากมีคนที่แสดงออกและพูดคุยเชิงวิชาการก็ไม่ควรที่จะใช้กฎอัยการศึก
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวคงมีการพูดคุยกันใน กสม. ว่า มีแนวปฏิบัติในการทำงาน หรือการแสดงออกอย่างไรที่จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เพราะขณะนี้บ้างเมืองเราเดินมาไกลแล้วจะให้ย้อนกลับไปเป็นแบบเดิมก็ไม่ได้ อีกทั้งในประเทศเราก็มีหลายจังหวัดที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก มีทั้งเต็มพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือบางพื้นที่ บางอำเภอ แต่ขณะเดียวกันก็มีการใช้กฎหมายอื่นในการดูแลการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก โดยยึดหลักสิทธิมุนษยชนได้