เสวนา กสม.ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ปธ.กสม. ยกเศรษฐกิจ-ละเมิดสิทธิ ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เหตุนายทุนข้ามชาติไม่เหลียวแลสิทธิแรงงาน แนะ รัฐ-เอกชน ต้องคุ้มครอง-เยียวยาถึงที่สุด รอง ปธ.กก.ปฏิรูปกฎหมาย ชี้กฎหมายประกันสังคมมีข้อจำกัด บอร์ดไร้อิสระ-ทำแรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิ หลายเสียงเห็นพ้อง ปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมทั้งระบบ
วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเตรียมชีวิต มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ประเทศไทยจะก้าวไปทางไหนกับการปฏิรูปประกันสังคม กรณีสถานะของแรงงานข้ามชาติ”
โดยมีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางประกันสังคมไทย สู่ประชาคมอาเซียน (AEC)” ตอนหนึ่งว่า ในมิติของการเปิดประชาคมอาเซียน ต้องมองเรื่องแรงงานกันใหม่ เพราะต่อไปคำว่าแรงงานข้ามชาติจะหมดไป และกลายมาเป็นแรงงานอาเซียนแทน ดังนั้นประชาคมอาเซียนต้องร่วมมือกันเรื่องแรงงาน โดยมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน 3 อย่างที่ควรเกิดขึ้น คือ คณะกรรมาธิการด้านอาเซียนสังคม คณะกรรมาธิการอาเซียนด้านผู้หญิงและเด็ก ซึ่งคณะกรรมาธิการทั้งสองคณะนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่คณะกรรมาธิการอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ ยังไม่ยอมเกิด เกิดยากมาก เพราะเวลาเราพูดถึงอาเซียน มักจะบอกว่าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมื่อมาดูมิติด้านแรงงานแล้วไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
“ต้องติดตามดูว่าเมื่อเกิดเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ข้อตกลงแรงงานจะเป็นอย่างไร กรรมาธิการด้านแรงงานจะเป็นอย่างไร แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครองดูแล ระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศจะดูแลแรงงานที่ไม่มีสัญชาติของประเทศนั้นๆได้มากน้อยแค่ไหน แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศต้นทางที่ส่งแรงงานข้ามชาติเข้ามามีความร่วมมืออะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์เข้าถึงประกันสังคม การคุ้มครองแรงงาน ไม่ถูกเอาเปรียบ ต้องให้การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติด้วยการให้ความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง จึงถือเป็นมาตรฐานสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของภูมิภาคได้”
นางอมรากล่าวต่อว่า ทุกประเทศในอาเซียนต้องตระหนักใน 3 เรื่อง ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนควรร่วมมือทำความตกลงด้านประกันสังคมเพื่อคุ้มครองดูแลแรงงานและพลเมืองอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แรงงานข้ามชาติควรได้รับความคุ้มครองดูแลทางสังคมและประกันสังคมอย่างเท่าเทียมจากประเทศนั้นๆ และกลุ่มประเทศอาเซียนควรขยายความคุ้มครองทางสังคมโดยขยายระบบประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบให้ครอบคลุม ขณะนี้สังคมโลกยอมรับว่าปัญหาทางสังคมที่มีอยู่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจ และปัญหาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากนายทุนข้ามชาติมักไม่ดูแลเรื่องประกันสังคมของแรงงานในพื้นที่ ดังนั้น เห็นว่ารัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองทุกคนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ เอกชนต้องเคารพสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ดูแลไม่ละเมิดสิทธิ และสุดท้ายรัฐและเอกชนต้องเยียวยาหากมีการละเมิดสิทธิอย่างครอบคลุม
จากนั้นได้มีการอภิปรายเรื่อง “ประเทศไทยจะก้าวไปทางไหนกับการปฏิรูปประกันสังคม กรณีสถานะของแรงงานข้ามชาติ” โดยมีนายอารักษ์ พรหมมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายนันท์ ออประเสริฐ รองประธานหอการค้า จ.สมุทรสาคร น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นายภาคภูมิ แสวงคำ เจ้าหน้าที่วิชาการมูลนิธิรักษ์ไทย และนายมนัส โกศล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ร่วมอภิปราย
นางสุนีกล่าวว่า แรงงานต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ในอนาคตหากมีการยอมรับหลักประกันสังคม สังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิด รูปแบบการจ้างงานต้องไม่อยู่ในระบบอย่างเดียว ซึ่งกฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ยังแก้ไม่ได้เรื่องที่มาของบอร์ดประกันสังคมให้เป็นอิสระ การออกแบบคล่องตัวไม่ง่ายนัก สิทธิประโยชน์ที่ถูกแก้ยังผูกเงื่อนไขเวลา ต้องออกกฎระเบียบให้เหมาะสม กฎหมายประกันสังคมเหลื่อมซ้อนกองทุนเงินทดแทน ทำให้ไม่สมบูรณ์แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิ อนาคตต้องดูแลอย่างกลมกลืนและได้ประโยชน์ การปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ ต้องดูทั้งระบบว่าจะออกแบบอย่างไรที่สามารถเข้าสู่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ด้าน น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า เราพยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอดในเรื่องของร่างกฎหมายประกันสังคมที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะนี้ เพราะอยากให้พี่น้องเราสามารถเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมได้เอง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่ และการขับเคลื่อนเพื่อพี่น้องเราอย่างจริงจัง เพื่อเราจะได้มีสิทธิประกันตนเองอย่างครอบคลุม และเป็นธรรมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ก็ต้องได้รับสิทธิ ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายให้เท่าเทียมกัน
ขณะที่นายนันท์กล่าวว่า ทำไมแรงงานข้ามชาติถึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมถึงกองทุนเงินทดแทนหรืออื่นๆ เพราะประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าหลัง พอมีแรงงานข้ามชาติ กฎหมายที่รองรับกับการใช้แรงงานข้ามชาติก็ไม่มีและตามไม่ทัน ขณะเดียวกัน เรามีนักวิชาการ นักปฏิบัติ แต่เราขาดแคลนผู้ออกแบบระบบ เราไม่มีการป้องกันปัญหาหรือหยุดปัญหาเลย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เลยเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าววันสต๊อปเซอร์วิส ซึ่งตนขอชื่นชมคสช. ว่ามาถูกทางแล้ว แต่เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วให้ทำประกันสุขภาพ อายุ 1 ปี แต่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ดังนั้น คนไทยจึงคาดหวังว่าน่าจะมีคนออกแบบในสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แต่มองว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้ง 250 คนที่จะออกแบบประเทศไทยนั้น เดิมจะมีการปฏิรูปเพียง 11 ด้าน ซึ่งในด้านแรงงานไม่มี แต่พอมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ทั้ง 18 คณะ ปรากฏว่ามีคณะกรรมาธิการด้านแรงงาน 1 คณะ โดยมีนายทหารเป็นประธานกรรมาธิการ ซึ่งกลไกลของ สปช. เปิดโอกาสให้ประชาชนส่งความคิดเห็นผ่านศูนย์ดำรงธรรม อยากถามว่าถ้าเป็นเช่นนี้ ประเทศเราควรมี สปช.ไหม เพราะ สปช.เขาให้มาออกแบบประเทศไทย ไม่ใช่มารอความคิดจากประชาชนเพียงอย่างเดียว
“วิธีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม คงจะรอ สปช. หรือรอรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้น เราต้องช่วยกันออกแบบและเสนอไปยัง สปช. โดยเราตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องทำให้แรงงานในสมุทรสาคร เข้าสู่ระบบประกันสังคมครบ 100 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ คสช.ใช้ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสนั้นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้อง เพราะระยะเวลาเปิดให้ขึ้นสั้นไป ต้องเปิดตลอดปีเพื่อให้ทุกคนได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย” นายนันท์กล่าว
ทั้งนี้ นายอารักษ์กล่าวว่า เรื่องแรงงานข้ามชาติมี 2 หลักที่เราพูดคุยกัน คือ หลักความเท่าเทียม หลักความเป็นธรรม เรื่องการปฏิรูปแรงงานข้ามชาติไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่มีปัญหาไปทั่วโลก ลักษณะภูมิภาคประเทศไทยเอื้อประโยชน์ให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศอย่างมาก โดยมีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติหลัก คือ พม่า เขมร และลาว มิติของไทยคิดเรื่องแรงงานข้ามชาติคือความมั่นคงของรัฐจึงมีการขึ้นทะเบียนเพื่อกำกับดูแลได้ มิติทางความมั่นคงทางสังคมเพื่อดูแลความเป็นอยู่ และมิติความมั่นคงทางมนุษย์ คือ การดูแลเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งไม่มีการจัดระเบียบที่ถูกต้อง ถามว่าจะต้องปฏิรูปอย่างไร หลักการการเข้าถึงประกันสังคม ต้องมีข้อตกลงทางประกันสังคมเกิด คือ ข้อตกลงการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กัน การไม่ละเมิดสิทธิ และการรับเงินสมทบ เราต้องปรับแนวปฏิบัติให้ได้ เชื่อว่าเราสามารถบริหารจัดการได้ เพราะจะบ่งชี้ถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรม
“เมื่อประชาคมอาเซียนเปิด คงไม่น่ากังวลเรื่องแรงงานเลย เพราะแรงงานข้ามชาติในประชาคมอาเซียนจะสิ่งสำคัญในอาเซียนคือต้องมีข้อตกลงในการใช้แรงงานที่มีทักษะสูง มีวิชาชีพติดตัว มีความรู้ความสามารถรอบด้าน มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ปัญหาแรงงานที่เกิดในปัจจุบันคือแรงงานที่มีทักษะต่ำ กฎหมายประกันสังคม จึงป้องกันไว้ไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะเป็นการเปิดหางานเพื่อให้คนไทยมีงานทำ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐมากที่สุด เพราะถ้าเราไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้แรงงานข้ามชาติคงทะลักเข้ามาในประเทศอย่างมากมมายแน่นอน แต่ก็ไม่ละเลยมิติความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องมีความสอดคล้องกัน” นายอารักษ์กล่าว