xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” แย้มไม่เปิดเวทีฟังความเห็น แต่จะเลือกคนโดยวิธีทางสถิติและผู้มีส่วนได้เสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.ยกร่างฯ พร้อมส่งการบ้านร่าง รธน.ให้ “สปช.-สนช.-คสช.-ครม.” ทราบทุกสัปดาห์ ปฏิเสธ คสช.ตั้ง “มีชัย” เกาะติดการยกร่างฯ แค่เสนอแนะความเห็นผ่านที่ปรึกษา คสช. ไม่มีล้วงลูก เล็งยกร่างฯ เป็นรายมาตราหลังปีใหม่ คาด 29 ธ.ค.ได้กรอบครบทั้งหมด แย้มไม่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่จะเลือกคนฟังโดยวิธีทางสถิติจากระบบคอมพิวเตอร์ 80 คน อีก 20 เชิญผู้มีส่วนได้เสียมาเข้าร่วมรับฟัง



นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงภารกิจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องเร่งทำว่า นายเทียนฉาย กีรนันท์ ประธาน สปช.ได้ให้นโยบายว่า เรื่องที่เป็นข้อบังคับซึ่งเคยใช้กับสภาคงนำมาใช้กับ สปช.ลำบาก ดังนั้นในบางเรื่องจะใช้วิธีการยกมือแทน เว้นแต่เรื่องจำเป็นเช่นการรับรองร่างรัฐธรรมนูญ จะใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนน นอกจากนี้มีการพูดถึงการเตรียมการสนับสนุนสมาชิก สปช.ในเรื่องการจัดทำร่างกฎหมาย เพราะถ้าไม่เตรียมการช่วยเหลือสมาชิกจะยกร่างไม่เป็น

“ประธาน สปช.ได้ให้นโยบายที่สำคัญ คือ สปช.ควรทำปฏิทินกำหนดเวลาทำงานให้เหมือนกับ กรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่ง สปช. และ สนช.ได้ทำรายงานให้ ครม. และ คสช.สัปดาห์ละครั้ง ดังนั้น สปช.ต้องกำหนดตารางการทำงานให้ชัดเจนมากขึ้น”

นายบวรศักดิ์กล่าวถึงการนัดตรวจการบ้านอนุกรรมาธิการยกร่าง 11 คณะในวันที่ 1 ธ.ค.ว่า กรรมาธิการฯ ได้ตั้งอนุกรรมาธิการฯ 11 ชุดเพื่อจัดทำกรอบความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญ และจะนำความเห็นพรรคการเมืองที่รับฟังไว้มาบรรจุในกรอบด้วย คาดว่าในวันที่ 1 ธ.ค.นี้จะได้หลักการสำคัญที่อนุกรรมาธิการฯ ทั้ง 11 ชุด เห็นว่าควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จากนั้นกรรมาธิการฯจะหารือตั้งแต่วันที่ 2-9 ธ.ค. เพื่อรอการประชุมสภาปฏิรูปฯในวันที่ 10 ธันวาคม และคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สปช.ทุกคณะจะต้องส่งความเห็นที่จะให้ใส่ในร่างรัฐธรรมนูญมายังนายเทียนฉาย จากนั้น สปช.จะประชุมในวันที่ 15-16 ธ.ค. ก่อนที่จะส่งความเห็นที่ สปช.ลงมติแล้วให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 19 ธ.ค. โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดว่า ความเห็นที่จะเสนอให้กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเป็นมติของ สปช. โดยในวันที่ 19 ธ.ค.กรรมาธิการยกร่างฯ จะนำความเห็นดังกล่าวมาประชุมหารือกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกินวันที่ 29 ธ.ค.ก็จะได้กรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด และลงมือยกร่างรัฐธรรมนูญได้หลังปีใหม่ โดยจะมีทีมงานของกฤษฎีกามารับฟังความเห็นจากอนุกรรมาธิการฯ ชุดต่างๆ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น

ส่วนที่ ครม.ตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ คิดอย่างไรนั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งนายมีชัย สื่อเข้าใจผิด เพราะครม.พูดถึงคณะติดตามของ ครม.และ คสช.ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ดังนั้น ครม.และคสช.จึงต้องมีคนคอยทำการบ้านให้ ครม.จึงให้คณะที่ปรึกษาเดิมของ คสช.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เพิ่มนายมีชัยเข้าไปเป็นฝ่ายติดตามกำหนดให้ ครม.และ คสช.เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ตั้งนายมีชัยขึ้นมาคนเดียว โดยกรรมาธิการยกร่างฯ ก็มีมติที่จะส่งรายงานไปถึงประธาน สปช. นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ทุกสัปดาห์เพื่อจะได้ติดตามแผนการดำเนินงานของกรรมาธิการยกร่างฯ ได้อย่างใกล้ชิด แต่นายมีชัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการฯ

“ยืนยันว่าการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯ รัฐบาลไม่สามารถเข้ามาล้วงลูกได้ เพราะเป็นการทำงานของคน 36 คน หากปล่อยให้ล้วงลูกโดยไม่เป็นข่าวก็เก่งมาก แต่หากจะมีการให้คำแนะนำก็เป็นเรื่องของคณะที่ปรึกษา คสช.ไม่ใช่ในนามของนายมีชัย โดยการให้ความเห็นก็สามารถเสนอมายังกรรมาธิการฯได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป สปช. พรรคการเมือง รวมถึง ครม.ด้วย”

ส่วนที่นายกฯ ขอให้มีการยกร่างกฎหมายลูกควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญตน ยังไม่ขอพูด เพราะต้องดูว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร จะสมมติก่อนไม่ได้ ขณะที่การรับฟังความเห็นจากประชาชนของกรรมาธิการยกร่างฯ นางถวิลวดี บุรีกุล จะลงพื้นที่ 10 แห่ง วิธีการรับฟังไม่ใช่การเปิดเวทีให้ใครมาพูดอะไรก็ได้ แต่จะทำแบบที่สถาบันพระปกเกล้าทำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ การเลือกคนฟังโดยวิธีทางสถิติจากระบบคอมพิวเตอร์ 80 คน และอีก 20 คนเชิญผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง มาพูดคุยตกลงกระบวนการว่า ต้องให้มาเข้าร่วมรับฟังไม่ใช่การชี้หน้าด่ากัน จากนั้นก็พูดคุยกันถึงอนาคตห้ามพูดเรื่องในอดีต

นายบวรศักดิ์ยังกล่าวกรณีที่นายกฯ เปิดทางให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่ได้เปิดทาง ใครบอกว่าเปิด ส่วนตัวเห็นว่าควรจะทำประชามติแต่นายกฯ บอกว่า รอถึงเวลาก่อนค่อยพูด เพราะเป็นอำนาจของ ครม.และ คสช.ที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้มีการทำประชามติหรือไม่ทำ เมื่อถามย้ำว่ากระแสจากหลายฝ่ายเห็นควรว่าต้องทำประชามติ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องดีสามารถแสดงความเห็นได้









กำลังโหลดความคิดเห็น