xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปการเมืองแบ่ง 4 อนุฯ ระดมความเห็นร่าง รธน. ย้ำไม่ตั้งธงล้มล้างใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ (แฟ้มภาพ)
กมธ.ปฏิรูปการเมือง แบ่งงาน 4 อนุฯ ระดมความเห็นเสนอ สปช.10 ธ.ค. เล็งชง ตั้งสภาประชาชนไปยัง คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง ย้ำไม่มีธงร่าง รธน.เพื่อล้มล้างใคร ด้านประธานอนุ กมธ.การมีส่วนร่วม พร้อมถกกรอบรังฟังความเห็นประชาชน 17 พ.ย. ก่อนส่ง กมธ.ยกร่าง เชื่อไร้ปัญหาถูกฝ่ายความมั่นคงเบรก

นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปด้านการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง ได้แบ่งงานออกเป็นคณะอนุ กมธ.4 ด้าน 1. ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและองค์กรอิสระ 2. ปฏิรูประบบพรรคการเมือง 3. ปฏิรูปกลไกและระบบการเลือกตั้ง และ 4. ปฏิรูปกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งคณะนี้อาจรวมเรื่องการปรองดองด้วย โดยสัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค. คณะอนุกรรมการแต่ละด้านจะสรุปกรอบความเห็นให้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองฯ เพื่อนำเสนอไปยัง สปช.ในวันที่ 10 ธ.ค.

ส่วนข้อเสนอเรื่องตั้งสภาประชาชนหรือสภาพลเมืองที่มีการเสนอในการสัมมนา สปช.ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทำหน้าที่คัดกรองบุคคลเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็จะเสนอเข้าสู่คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและองค์กรอิสระให้พิจารณาด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีตั้งธงล้างอำนาจเก่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการนำตัวบุคคลมาเป็นตัวตั้งในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญต้องเขียนเพื่อประเทศ ซึ่งตนเป็นนักวิชาการก็ยึดความถูกต้อง

เมื่อถามว่า คสช.ควรยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกก่อน สปช.รับฟังความเห็นประชาชนหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า คสช.ชี้แจงว่าการใช้กฎอัยการศึก เพราะยังมีปัญหาความไม่สงบ ก็ควรมุ่งเน้นกำกับดูความไม่สงบอย่างเดียว ส่วนการปฏิรูปการเมืองการรับฟังความเห็นประชาชนควรเปิดกว้าง ถ้าไม่เปิดกว้างจะทำให้การปฏิรูปไม่ราบรื่น และจะมีข้ออ้างถึงความไม่สะดวกได้ ส่วนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสนอความเห็นต่อการปฏิรูปจะขัดกฎอัยการศึกหรือไม่นั้น เห็นว่าคนทำงานก็ต้องแยกแยะให้ออกว่าการฟังความเห็นเป็นการเสนอแนวทางเพื่อการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะนี้ยังมีความเห็น 2 แนวทาง คือ 1. ถ้าทำประชามติจะทำให้มีหลักพิงว่ารัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชน มีความชอบธรรมและ 2. การทำประชามติไม่สอดคล้อง มีมาตราเยอะ มีทั้งคนเห็นและไม่เห็นด้วย จึงอาจทำให้ไม่ชัดเจนเหมือนครั้งที่แล้ว จึงต้องหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง แต่หากจะทำก็แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะมีช่องทางอยู่

นางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีการตีกรอบรับฟังความเห็นของฝ่ายความมั่นคงต่อประเด็นการปฏิรูปและข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากกรณีของรายการ “เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาของการรับฟังความเห็นในประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะได้ตั้งประเด็นการรับฟังเฉพาะเนื้อหาการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นการมองภาพของอนาคตเพื่อประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การตำหนิ หรือเปิดให้ประชาชนชี้นิ้วด่ากัน ดังนั้นการตีกรอบของฝ่ายความมั่นคงในประเด็นความขัดแย้งจึงไม่เป็นสิ่งที่น่ากังวล นอกจากนั้นในกระบวนการรับฟังความเห็นที่อนุ กมธ.พิจารณาร่วมกันเห็นว่าต้องมีกติกาและประเด็นการรับฟังที่ชัดเจนและปฏิบัติตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ที่มีผลบังคับใช้ เบื้องต้นอาจต้องแจ้งไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือทำหนังสือขออนุญาต หากจะจัดกิจกรรมทางการเมือง หรือการประชุม หรือการชุมนุมเกิน 5 คน

“ส่วนการเรียกร้องให้เลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นสิ่งที่เข้าใจว่าต้องการเปิดพื้นที่แสดงความเห็น แต่ส่วนตัวเข้าใจฝ่ายผู้ดูแลความเรียบร้อยเช่นกันว่าหากยกเลิกไปแล้วอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่เรียบร้อยได้ ดังนั้นกรณีจะให้ทหารยกเลิกกฎอัยการศึกเวทีประชาชน และสังคมต้องแสดงให้เห็นว่าเวทีที่จัดจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งก่อน” นางถวิลวดีกล่าว

นางถวิลวดีกล่าวต่อว่า อนุ กมธ.จะนัดประชุมในวันที่ 17 พ.ย.นี้ โดยจะเป็นการเสนอรูปแบบและวิธีปฏิบัติของการรับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กำหนดประเด็น ว่าจะไม่ใช้เงินในทางการเมืองได้อย่างไร ให้หน่วยงานไปสอบถามประชาชนที่กำหนด เป็นต้น และหลังจากที่ประชุมอนุ กมธ.พิจารณาและเห็นชอบแล้ว จะเริ่มทำงานทันที โดยมีความร่วมมือจากสำนักสถิติแห่งชาติ สถาบัน องค์กรชุมชนมาช่วยงาน และเชื่อว่าเมื่อ อนุ กมธ.เปิดเวทีฟังความเห็นแล้วประชาชนจะเข้าร่วมโดยไม่กังวลว่าจะมีผลกระทบใดๆ ตามมาหลังจากการสะท้อนความคิดเห็น


กำลังโหลดความคิดเห็น