ผ่าประเด็นร้อน
อาจเป็นเพราะหลายอย่างเริ่มงวดเข้ามาจนเป็นเรื่องบังคับแล้วว่าต้องแสดงท่าทีออกมาให้เห็นกันบ้าง โดยเฉพาะ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ควบคุมดูแลด้านความมั่นคงของประเทศทั้งหมดในเวลานี้ ขณะเดียวกัน อาจเป็นเพราะระยะเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินมาเกือบครึ่งทางนั่น คือ กำลังย่างเข้าสู่เดือนที่ 6 ของการควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นการขอโอกาสแก้ปัญหาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งระยะเวลาแบบนี้มองอีกมุมหนึ่งมันก็ถึงเวลาที่ทุกกลุ่มเริ่มขยับเคลื่อนไหวกันบ้าง
เพราะบางทีการอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองอาจทำให้มวลชนเกิดความอึดอัดหรือฝ่อ จึงต้องมีการออกแอ็กชันกันบ้าง อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตาก็คือ บางกลุ่มเป็นแค่ขู่เพื่อต่อรอง บางกลุ่มก็ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มอำนาจที่พลังศรัทธาเริ่มถดถอย ขณะที่บางกลุ่มแสดงท่าทางเอาแน่หากเห็นว่าเริ่มไม่น่าไว้ใจ และเห็นว่า"กลุ่มอำนาจใหม่"เริ่มเดินออกนอกแนวทางเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
ดังนั้น การเคลื่อนไหวดังกล่าวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันจึงหลากหลายแนวทางหลายเป้าหมาย แต่สำหรับฝ่ายอำนาจก็ย่อมมองเห็นถึง “ความไม่มั่นคง” เกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยความไม่มั่นคงที่ว่าก็คือเริ่มรู้สึกว่า “ตัวเองไม่มั่นคง”
คำพูดของ รองนายกฯด้านความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เพิ่งกล่าวล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน ที่ย้ำว่า “รับไม่ได้กับพวกที่ทำลายความมั่นคง” พร้อมทั้งส่งเสียงเข้มสำทับตามมาในทำนองว่าจะ “เรียกมาเคลียร์” และยังแสดงท่าทีว่าจะยังคง “กฎอัยการศึก” ทั่วประเทศไว้ต่อไป โดยอ้างสถานการณ์ยังไม่ปกติ มีการเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรักษาความสงบและรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ
ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ที่ให้ทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหว และขู่ว่าอย่าถึงกับต้องใช้อำนาจตามกฎหมายมาจัดการกันเลย
แน่นอนว่าไม่น่าแปลกใจที่บุคคลที่ได้ชื่อว่ามีอำนาจมากที่สุดในเวลานี้ เพราะหากนับจากระยะเวลาที่พวกเขาเข้ามาควบคุมอำนาจและสัญญาว่าจะทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ ขอร้องให้ชาวบ้านอดทนรอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนก็ต้องถึงเวลาที่จะต้องมาสรุปผลงานพอมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้างหรือไม่ ภายใต้อำนาจที่มีอยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเรื่องปากท้อง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ “โดนใจ” นัก ขณะเดียวกัน ในเรื่องใหญ่บางเรื่องกลับทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาเช่นเรื่องการปฏิรูปพลังงาน ว่าจะเป็นการปฏิรูปเพื่อใครกันแน่
ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงสำคัญกับการมีสภาปฏิรูปแห่งชาติและการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เริ่มมีแนวโน้มให้เห็นมากขึ้นว่าจะเป็นการวางกรอบไว้สำหรับการ “สืบทอดอำนาจ” มากขึ้น โดยเฉพาะเริ่มมีการถามทางออกมาบ้างแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเปิดกว้างให้ “นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง” แม้ว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็จับอาการเคลื่อนไหวได้แล้ว
นอกจากนี้ ในระยะหลัง “กลุ่มอำนาจใหม่” กลุ่มนี้ยังสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นว่าอาจ “ปรองดอง” กับ “อำนาจเก่า” ในกลุ่มของ ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยสังคมตั้งข้อสังเกตจากเรื่องที่ “ไม่เคยแตะต้อง” คนกลุ่มนี้ เลยแม้แต่น้อย และช่วยไม่ได้ที่เกิดคำถามและหวาดระแวงว่าระหว่างการเดินทางไปจีนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีการเชื่อมโยงอะไรกันหรือไม่ แม้จะมีการปฏิเสธอย่างหนักแน่น แต่เชื่อว่ายังมีคำถามคาใจกันอยู่ ตราบใดที่ยังไม่เร่งรัดดำเนินคดีตามกฎหมายกับคนที่ทำความผิด หลบหนีคดีตามมาตรฐานทั่วไป
แน่นอนว่าการออกมาส่งเสียงคำรามของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นาทีนี้พอจะจับอาการให้เห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณไปถึงฝ่ายที่เตรียมออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่เป็นผลดี ย่อมกระทบต่อความมั่นคงโดยเฉพาะความมั่นคงของพวกเขา ที่หากมีกลุ่มหนึ่งออกมา กลุ่มสองสามก็ย่อมตามมา แต่ขณะเดียวกัน ยิ่งนานไปก็คงไม่มีทางห้ามปรามกันได้ หากไม่สามารถบริหารความพอใจและรักษาความสมดุลย์ให้เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญหากไม่อาจลดความระแวงเรื่อง “การปรองดอง” กับคนทำผิด ซึ่งความรู้สึกอย่างหลังเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น !!