xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” แนะรัฐทยอยใช้หนี้จำนำข้าว ธ.ก.ส. แทนกู้รวดเดียว 8 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป.ชี้ตัวเลขจำนำข้าวจากทีดีอาร์ไอ ข้าวดีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ย้ำความเสียหายมากขึ้น แนะรัฐจัดงบฯ 7-8 หมื่นล้านทยอยใช้หนี้ แทนกู้ 8 แสนล้านเป็นภาระไป 30 ปี คาด 10 ปีเคลียร์หนี้หมด “วิรัตน์” งัด พ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติมัด “ยิ่งลักษณ์” ความผิดสำเร็จ รู้แล้วแต่ละเว้นเพิกเฉย ชม “พรเพชร” ใจถึงดันเข้าวาระให้ สนช.ถอดถอน

วันนี้ (30 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนแปลกใจต่อตัวเลขข้อมูลข้าวที่สภาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ประกาศออกมาว่าข้าวดีเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นตัวที่ยืนยันบ่งบอกว่าความเสียหายในโครงการนี้ย่อมมีมากขึ้นแน่นอน เพราะว่าการประเมินรายได้จากการขายข้าว ส่วนใหญ่จะประเมินจากข้าวตามคุณภาพที่รับเข้ามา แต่หาก 90 เปอร์เซนต์ ไม่ได้ตามคุณภาพที่รับเข้ามาก็จะได้ราคาน้อยกว่า ความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้น

โดยรัฐบาลใช้ตัวเลขความเสียหายสูงถึง 7-8 แสนล้านบาท และมีแนวคิดจะไปกู้เงิน 8 แสนล้านบาทมาคืน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะสร้างภาระดอกเบี้ยในการจัดสรรงบประมาณปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท รัฐบาลควรวางแผนงบประมาณในระยะปานกลาง หรือระยะยาวว่า การใช้หนี้ตัวจะเจียดงบประมาณในแต่ละส่วน ในแต่ละปีเท่าจำนวนไหร่ ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะหากทุ่มมากไปจะกระทบต่องบด้านการพัฒนา แต่หากน้อยเงินไปจะเป็นการพอกพูนภาระทั้งดอกเบี้ย และเงินต้นให้กับคนรุ่นหลัง

“ที่สำคัญสิ่งที่คนทั้งประเทศรอคอยก็คือ หากความเสียหายมากมายขนาดนี้จะต้องมีการไล่ตามหาคนผิด รับผิดชอบในส่วนนี้หรือไม่ เพราะ สมัยต้มยำกุ้งยังต้องดำเนินคดีกับสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าเกิดวันนี้กำลังจะบอกว่าคนไทยต้องแบกหนี้กัน 7-8 แสนล้าน แล้วไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย มันก็ดูกระไรอยู่” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลควรทำอย่างไรในการจัดการกับผลขาดทุน 6-7 แสนล้านบาท ในการเดินหน้าต่อไป และไม่เป็นภาระที่ต้องกู้ หรือออกพันธบัตรอายุ 30 ปี ตามแนวคิดของรัฐมนตรีคลัง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลควรจัดงบประมาณปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท แม้จะเป็นภาระมาก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดงบประมาณให้เพียงพอกับโครงการที่จะเดินหน้า เพราะการขาดดุลงบประมาณก็ยังไม่ชนเพดานหนี้ ดังนั้นตนคิดว่ายังคงเป็นทางเลือกที่ควรจะพิจารณามากกว่า เพื่อให้หนี้หมดไปภายใน 10 ปี

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ระบุว่าการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาส่อว่าจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าวที่อาจจะส่อล้มเหลว เนื่องจากไม่เป็นเคยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) แม้แต่ครั้งเดียวว่า ตาม พ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 18 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ โดยตำแหน่ง และมาตรา 21 กำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย มาตรการ ตลอดจนการควบคุมการบริหารงาน รวมทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบไว้ชัดเจน

โดยเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ ไม่ว่าจะหลบเลี่ยงอย่างไรความผิดก็ถึงตัว เพราะในระหว่างนั้นได้มีการท้วงติง และคำเตือนจากหลายหน่วยงาน ทั้งรับหนังสือจาก ป.ป.ช.ถึง 2 ครั้งว่าให้เลิกนโยบายนี้เสีย เพราะจะทำให้ประเทศเสียหายมหาศาล มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านถึง 2 ครั้งว่าเกิดความวอดวายแค่ไหนก็ยังนิ่งเฉย รวมทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กระทรวงการคลังโดย อนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานก็มีการเตือนเช่นกัน ดังนั้น การที่รู้แล้วแต่ละเว้นเพิกเฉยปล่อยให้มีการทุจริต ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.รวบรวมสำนวนทั้งหมดแล้วจึงมั่นใจว่าสำนวนมีน้ำหนักเพียงพอต่อการถอดถอนได้

“แม้จะอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่ได้นั่งหัวโต๊ะตัดสินใจร่วมกัน กขช. ก็ตาม แต่จริงๆนั้นรู้กันในทางลึกว่าเป็นอย่างไร อยู่ที่เจ๊คนไหน จำนวนเท่าไหน เมื่อได้รับเสียงเตือนจากรอบด้านแล้วสามารถยกเลิกได้ แต่กลับนิ่งเฉย และยังเดินประกาศเดินหน้าสานนโยบายนี้ต่อถ้าได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ต้องชื่นชมประธาน สนช.ที่บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระเพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มันยังมีผลอยู่ และการกระทำที่ว่าเข้ามาตรา 100 ของกฎหมาย ป.ป.ช.อยู่แล้ว ใครที่มีความเห็นอย่างไรต้องบันทึกไว้และตอบคำถามกับสังคมเองว่าคิดอย่างไร เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่ที่ ป.ป.ช.ที่ได้ทำเต็มที่และเตรียมที่จะไปชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.อย่างเปิดเผย ก่อนหน้านี้ สนช.เคยหาว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีอำนาจถอดถอนได้ ทั้งที่มาตรา 5 และมาตรา 13 โยงชัดว่ามี แต่ก็พยายามบิดพลิ้วกันไปเอง เวลาอยากเป็นกระสันกันนัก แต่พอมาทำงานแล้วเปลือกข้าวสุกจริงๆ” นายวิรัตน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น