xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานขอ สนช.ชะลอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม - “สุรชัย" รับเบรกไม่ได้ แต่จะจัดที่นั่งให้ร่วมพิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ยื่น สนช.ชะลอรับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ชี้ผู้เกี่ยวข้องไม่มีส่วนร่วม ขอจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาสังคม ห่วงไม่สอดคล้องหลัก 4 ประการ ด้าน “สุรชัย” รับหนังสือ บอกอย่ากังวลจะดูแลให้ ถ้าที่ประชุมรับหลักการจะจัดโควตาให้ร่วมด้วยแน่นอน แต่คงเบรกไม่ได้เพราะ ครม.ส่งมา

วันนี้ (30 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.15 น. องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) และคณะทำงานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) นำโดยนายมนัส โกศล ประธาน อรท. ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เรื่องขอให้ชะลอเวลาการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่… พ.ศ… ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณา และเสนอแนะต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงอยากให้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากตัวแทนภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายสถานพยาบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับหลัก 4 ประการ เพื่อการปฏิรูปประกันสังคม ที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานเคยเข้าหารือกับนายสุรชัย ก่อนหน้านี้ รวมถึงกระบวนการพิจารณา ไม่มีร่างของ สนช. และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เข้าสู่การพิจารณาคู่ขนานไปด้วย ทำให้การพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย อาจไม่มีความรอบด้าน

ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า ขอภาคประชาชนอย่ากังวล เพราะสนช.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมวิป สนช.ได้คำนึงถึงสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องมา และจะดูแลให้ โดยในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม วันพรุ่งนี้ (31 ต.ค.) หากที่ประชุมรับหลักการวาระแรก จะจัดสัดส่วนโควตาให้ภาคประชาชนเข้าร่วมพิจารณาในชั้นกรรมาธิการด้วยแน่นอน พร้อมทั้งจัดโควต้าให้เอกชนทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง อีก 6 ตำแหน่ง เพื่อร่วมกันพิจารณาให้เกิดการยอมรับร่วมกัน อย่างไรก็ตาม สนช.คงไม่สามารถดึงร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณาได้ เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจของ สนช. เพราะเป็นร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีส่งมา


กำลังโหลดความคิดเห็น