เครือข่ายแรงงานประกาศ 4 ข้อ เรียกร้องปฏิรูปประกันสังคมเน้น ครอบคลุม อิสระ โปร่งใส ยืดหยุ่น ให้บรรจุในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงาน ภายใน 1 เดือน ไม่มีความคืบหน้าเตรียมล่ารายชื่อยื่นนายกฯ
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายประกันสังคมทำงาน (คปค.) 14 องค์กร นำโดยนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวและประกาศเจตนารมณ์ปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อคุ้มครองคนทำงานที่มีรายได้ทุกคน ป้องกัน หรือลดการทุจริตที่อาจเกิดจากการบริหารจัดการกองทุนที่ขาดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิที่ควรพึงได้รับจากการร่วมจ่ายในระบบสวัสดิการต่างๆ และลดภาระการเงินการคลังที่รัฐจะต้องแบกรับในอนาคตจากการที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2558
การขอให้ปฏิรูปประกันสังคมโดยยึดหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 1. หลักความครอบคลุม ผู้ทำงานทุกคนทุกอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับประโยชน์ทดแทนเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องได้เท่ากันหรือแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงินสมทบ 2. หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจและยึดหลักธรรมาภิบาลโดยต้องบูรณาการเพื่อประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงร่วมกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น ระบบสุขภาพ ระบบประกันชราภาพ 3. หลักการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกระบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ เช่น มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมโดยตรง มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนกรรมการประกันสังคม รวมทั้งมีระบบตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และ 4. หลักยืดหยุ่นเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสามารถออกแบบและปรับปรุงให้เหมาะสม เช่น การจ่ายเงินสมทบที่สัมพันธ์กับฐานรายได้ การปรับปรุงเกณฑ์ เงื่อนไขอัตราเงินสมทบและการบริการ ระยะเวลาได้รับสิทธิประโยชน์เร็วขึ้น
นายมนัส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานเป็น 1 ใน 38 ร่างกฎหมายเร่งด่วนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ขาดการมีส่วนร่วมและการบูรณาการข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงาน จึงได้ไปยื่นหนังสือต่อประธาน สนช. ขอให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้นำ 4 ประเด็นหลักข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไปบูรณาการบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานก่อนเสนอต่อ สนช. และได้นำข้อเรียกร้องข้างต้นไปเสนอต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย
“หากกระทรวงแรงงานไม่นำข้อเรียกร้องทั้ง 4 ของเครือข่ายแรงงานไปบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานภายใน 1 เดือน ทางเครือข่ายแรงงานจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแรงงานทั่วประเทศรวบรวมรายชื่อ พร้อมนำข้อเรียกร้องไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายมนัส กล่าว
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ช่วง 24 ปี ที่ผ่านมา ระบบประกันสังคมพัฒนาไปไม่มากนัก และขาดการมีส่วนร่วมไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ทหารต้องเข้ามาบริหารประเทศและรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไป เครือข่ายแรงงานไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานต่อ สนช. จึงใช้วิธีเสนอ 4 ประเด็นหลัก ในการปฏิรูประบบประกันสังคมตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงาน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คสรท. ได้เข้าพบ รมว.แรงงาน เพื่อเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าว รวมทั้งเสนอให้ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระและตรวจสอบการใช้เงินของ สปส. ซึ่ง รมว.แรงงาน เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องแต่ในส่วนของการปฏิรูปให้ สปส. เป็นองค์กรอิสระนั้นขอเวลาศึกษาก่อนว่าควรดำเนินการอย่างไร
ด้านนายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานเพื่อนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว หลังจากนั้น จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น