xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” ชี้การถอดถอนขึ้นอยู่กับประธาน สนช. แม้ไร้วิปถาวรก็ทำได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช.ระบุการถอดถอนไม่จำเป็นต้องรอวิปฯถาวร เพราะวิปชั่วคราวยังทำงานอยู่ และต้องขึ้นอยู่กังประธาน สนช.ในการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช.ถาวร ว่า วันนี้ (26 ก.ย.) จะมีการยื่นญัตติตั้งกรรมาธิการสรรหา เพื่อจัดสรรสมาชิกไปลงคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 16 คณะ ซึ่งกรรมาธิการสรรหาได้ตกลงกันว่าต้องมีจำนวนทั้งหมด 12 คน และถ้าที่ประชุมมีการเห็นชอบรายชื่อทั้งหมดก็จะมีการแจกแบบฟอร์มให้กับสมาชิก เพื่อให้แจ้งความจำนงว่าจะไปอยู่ในกรรมาธิการคณะไหน โดยตามข้อบังคับสมาชิก 1 คน สามารถลงชื่อได้ 2 คณะ วิธีการจัดสมาชิกเข้ากรรมาธิการฯ จะจัดตามความต้องการในลำดับที่ 1 ก่อน หากคณะไหนเกินจำนวนสมาชิกจะต้องมีการจัดคนให้เท่ากัน

ทั้งนี้ หากยังไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องมีการจับสลาก โดยขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าว เราได้ให้เวลาไว้ 15 วัน คาดว่าในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็จะมีการเลือกประธานกรรมาธิการแต่ละคณะ และจะได้วิป สนช.ชุดถาวรจำนวน 25 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้ายังไม่มีวิป สนช.กระบวนการการถอดถอนจะยังไม่เริ่มขึ้นใช่หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่อง เพราะระหว่างที่รอวิป สนช.ถาวรนั้น วิป สนช.ชั่วคราวก็ยังทำงานอยู่ เรื่องถอดถอนขึ้นอยู่กับประธาน สนช.ซึ่งยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ถ้ามีการส่งเรื่องนี้เข้ามาวิปฯ จะต้องพิจารณาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อได้วิป สนช.ถาวรแล้วจะมีการตั้งวิปประสานงานขึ้นมาเพื่อประสานงานการทำงานระหว่าง สนช.กับรัฐบาล โดยสัดส่วนของ สนช.จะมีจำนวน 17 คน

ต่อข้อถามว่าหากมีการส่งรายชื่อถอดถอนแล้วพบว่ามีสมาชิก สนช.ถูกถอดถอนด้วย สมาชิกจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายนี้ ถ้ามีสมาชิก สนช.ถูกถอดถอน เบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่า สนช.มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายเรื่องการถอดถอนนั้น ในวิป สนช.มีนักกฎหมายหลายคน โดยทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ผ่านมาเรามีการพิจารณากันในวิป ซึ่งข้อกฎหมายที่ยังไม่มีข้อยุติจะต้องส่งให้หน่วยงานภายในพิจารณา เช่น สำนักกฎหมายของ สนช. และไม่อยากให้คิดไปไกล เพราะการที่กฎหมายถอดถอนผ่านนั้นเป็นการสร้างกลไกในการทำงานขึ้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น