รองหัวหน้า ปชป.ย้ำพรรคไม่ส่งคนนั่ง กมธ.ยกร่างฯ เชื่อไม่มีอิสระ คสช.ตั้งธงปฏิรูปไว้แล้ว ห่วงหากแนวคิดยังไม่ตกผนึกแล้วร่าง รธน.ออกมา อาจเจอวิบากกรรม ขู่ถ้า ปชป.-พท.ซึ่งมีประชาชนส่วนใหญ่หนุนทั่วประเทศไม่เอาด้วยจะไปไม่รอด เมื่อใด คสช.ไป รธน.ก็ล้ม เตือนต้องฟังความเห็นให้มาก และต้องฟังคนที่ควรฟัง สังหรณ์ใจ ส.ส.เก่าจะเข้ามาเกิน 80% เหตุต่างตะลุยหาเสียงช่วงว่างงานจากการถูกยึดอำนาจ ฝั่งระบบอุปถัมภ์เพิ่ม ทำคนปฏิรูปหน้าหงาย แนะตีกรอบความคิดนักการเมืมองมากกว่ากีดกัน
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ก้าวข้ามการเมืองส่งตัวแทนร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในโควตาคนนอกของ สปช. 5 คน ว่าตนขอให้นายอลงกรณ์ก้าวไปก่อน พวกตนขอเดินไปช้าๆ จะดีกว่า เรายังยืนยันเช่นเดิมว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งคนไปร่วมแน่นอน เพราะการส่งคนไปร่วม จะแตกต่างกันตรงไหนกับการมาขอความเห็นเป็นเอกสาร กรรมาธิการสามารถดูในเอกสารหรือนำไปร่างก็ทำได้ ไม่ควรยึดติดที่ตัวหรือความเห็นของบุคคลเป็นหลัก
นายนิพิฏฐ์ยอมรับว่า สาเหตุหนึ่งที่พรรคไม่ให้ความสนใจต่อการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าการทำงานจะไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะการปฏิรูปมันมีธงอยู่แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องยอมรับตามหลักความจริงด้วยว่าคนที่ยึดอำนาจมาจะไม่ปล่อยให้ปฏิรูปนอกกรอบที่เขากำหนด มีเพียงบางประเด็นที่เกิดปัญหาหรือข้อสงสัยว่าดีหรือไม่ดีก็จะสอบถามฝ่ายต่างๆ ส่วนจะเอาตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขนาด สปช.ยังไม่มีอำนาจแก้ไขเวลาที่กรรมาธิการทำการยกร่างฯ มาแล้ว เพราะไม่ต้องการให้ออกนอกกรอบที่เขายกร่างฯ มา แสดงว่าความสำคัญอยู่ที่กรรมาธิการยกร่างฯ สูงมาก
“ถ้าเราเข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วจะทำอะไรได้ หากกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่บอกว่าจะเอาความเห็นอย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์ สู้เราอยู่วงนอก แล้วกรรมาธิการอยากได้ความเห็นเรื่องอะไร ก็ขอมาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องให้ตัวบุคคลเข้าไป ทุกวันนี้สังคมไทยถกเถียงกันบนพื้นฐานความคิดเห็น ไม่ใช่ความรู้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง และหากคนที่ส่งเข้าไปไม่ใช่ตัวจริงพรรคเราไม่ทำอยู่แล้ว ไม่เหมือนพรรคอื่นที่อาจจะเอาคนอื่นมาเป็นหัวหน้าพรรคหรืออุปโลกน์ขึ้นมา ไม่ใช่หัวหน้าตัวจริง ผมเชื่อว่าพรรคชี้แจงต่อสังคมในเรื่องนี้ได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะต้องการบีบให้พรรคการเมืองเข้าไปร่วมเมื่อเป็นตรายางให้กับรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนไม่อยากมองร้ายขนาดนั้น การที่เขาต้องการขอความเห็นเป็นสิ่งที่ดี และรัฐธรรมนูญต้องได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศด้วย สมมติพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศไม่เห็นด้วย ลองคิดดูว่ารัฐธรรมนูญนี้จะมีวิบากกรรมอย่างไร มันไปไม่ได้แน่นอน เพราะ คสช.และสปช.ต้องมีวันหมดอายุ และรัฐธรรมนูญนี้ก็จะไม่ได้ใช้ ดังนั้น คสช.ต้องทำ 2 เรื่อง คือ 1. ต้องฟังให้มาก โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 2. เลือกฟังคนที่ควรฟัง เช่น ประเด็นปัญหาการซื้อเสียง จะฟังนายชวน หลีกภัย หรือนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือนายเนวิน ชิดชอบ หรือใคร เพราะแต่ละพรรคก็มีแนวความเห็นของแต่ละคน ปัญหาคือ คสช.จะเลือกเชื่อใคร
“การเขียนกฎหมายไม่ใช่ว่าใครจะมาเขียนก็ได้ เพราะมันเป็นเทคนิเชียล เมื่อความคิดไม่ตกผลึกก็ไม่สามารถได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบได้ เช่นเมื่อ 4 ปีที่แล้วมีการค้นหาว่านายกฯ ควรมาจากไหน ผลบอกไม่เอาคนนอก แต่ตอนนี้กลับมาบอกว่าจะเอาคนนอก เราจะกลับไปกลับมาโดยไม่มีเหตุมีผลแบบนี้ไม่ได้ เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ผมกลัวมาก ถ้าเกิดเดทล็อคอะไรขึ้นมามันก็จบอีก ไม่ใช่ว่าคุณจะเอาใครมาเป็นประธานกรรมาธิการแล้วเขียนกฎหมายมันไม่ได้ ผมกังวลว่าเดี๋ยวก็ออกทะเลหมด รัฐธรรมนูญเป็นของคน 67 ล้านคน จะเขียนจากความอยากของแต่ละคนมันไม่เห็นอนาคต”
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนอยากให้มีการปฏิรูปความคิดของประชาชนควบคู่กับปฏิรูปนักการเมือง ต้องสร้างวินัย เคารพกฎหมาย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มาก ต้องเข้มแข็งกว่ารัฐ ประเทศที่ดีต้องทำให้คนคิดถึงรัฐ แต่ประเทศไทยตื่นเช้ามาจะคิดถึงแต่นักการเมือง ฝนตกน้ำท่วมก็คอยว่าเมื่อไหร่ของช่วยน้ำท่วมจะมา เลยทำให้ระบบอุปถัมภ์เข้มแข็งมาก ต้องทำลายด้วยการให้คนพึ่งตนเอง คนต้องกำกับนักการเมือง อย่าให้นักการเมืองกำกับคน แต่ก็ทำยากเพราะการเมืองไทยฝังระบบอุปถัมภ์มานาน
“ตอนนี้สิ่งที่ คสช.ไม่รู้คือ พอมีการยึดอำนาจ ผู้แทนฯ ไม่รู้จะไปไหน ก็กลับไปพื้นที่ ทำความรู้จักประชาชน ใน 1 ปี สร้างระบบอุปถัมภ์ได้มหาศาล คนที่ไม่ใช่นักการเมืองไม่มีทางรู้ บางคนไปวันละ 5-6 งาน ถามว่าเวลาเลือกตั้งชาวบ้านจะเลือกใคร ผมสังหรณ์ใจว่าปฏิรูปครั้งนี้ ทุบโต๊ะให้ล้านเปอร์เซ็นต์ ขีดเส้นใต้เลยว่า เลือกตั้งครั้งหน้า ส.ส.หน้าเก่ากลับเข้ามาไม่น้อยกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์แน่นอน แม้จะมีการเขียนกติกาอย่างไร คนที่ปฏิรูปจะหงายหลัง นอกจากจะขีดว่านักการเมืองเก่าไม่ให้ลง สิ่งที่ สปช.ควรทำไม่ใช่เขียนรัฐธรรมนูญกีดกันนักการเมืองเก่าเข้ามา แต่ต้องตีโจทย์ใหม่กรอบความคิด การกระทำ เหมือนพระราชดำรัสในหลวงที่ว่า ถ้าไม่สามารถทำให้เขาเป็นคนดีได้ ก็ต้องกำกับควบคุมความคิดเขา ถ้าติดว่าพวกผมไม่ดีแล้วหานักการเมืองรุ่นใหม่มาล้ม อย่างผมลงพื้นที่ไปวันละ 7 งาน ใครอยากชนะก็ต้องไปให้ได้ถึง 14 งาน ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่มีแน่นอน แต่หากคิดกันภายใต้กรอบพิมพ์เขียวที่แจกให้ สปช. เช่น ตีกรอบ ส.ส.ลงได้ 2 สมัย นักการเมืองก็ส่งลูกลงและ100 เปอร์เซ็นต์ที่จะได้รับเลือกตั้งแน่นอน หรือใครไม่มีลูกก็ส่งคนขับรถลงแล้วตกลงกันให้ลงสมัยเดียว สมัยหน้าหลีกทางให้ ส.ส.กลับเข้าไป เป็นการไม่กันวิธีคิด แต่ไปกันตัวบุคคล เช่น จะไม่ให้มีโจรเลยเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องทำให้โจรกับพระนั่งคุยกัน เมื่อตั้งตรรกะผิดตั้งแต่แรก คำตอบย่อมไม่มีทางถูกต้อง”