ตั้งแต่ “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดตั้ง “รัฐบาลตู่ 1” บริหารงานราชการแผ่นดินมาแล้วกว่า 3 เดือน งานหลายส่วนเดินหน้าหลังจากชะงักงันในช่วงการชุมนุมของ “กปปส.” และ “คนเสื้อแดง”
งานที่เดินไปข้างหน้าตามโรดแมปของ “บิ๊กตู่” ส่วนใหญ่จะมุ่งไปตามกรอบที่ “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” ตีกรอบไว้ให้เดิน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมา รัฐบาลต้องเดินตามเส้นที่ขีดกันเอาไว้ และให้จับตาอาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้การบริหารงานเรียบง่ายยิ่งขึ้น เพราะดูแลยังมีบางข้อกฎหมายเปิดทางให้แก้ได้เต็มที่ แล้วต่อ คสช.จะว่าอย่างไร
ทว่างานด้านการตรวจสอบการทุจริตที่ “บิ๊กตู่” นำมาชูเป็นนโยบายเร่งด่วน เหมือนจะไม่ค่อยคืบหน้าเท่าที่ควร ยิ่งเดินเหมือนยิ่งเจอตอไม้ต้นใหญ่คอยขวางลำน้ำ 5 สายของ “รัฐบาล-คสช.” อยู่เต็มถนน
โดยเฉพาะงานของ “คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ” (คตร.) ที่ระยะแรกดูเหมือนจะขึงขังสั่งยกเลิกโครงการรัฐที่ “รัฐบาลปูแดง” ได้ตั้งไข่ทิ้งเชื้อเอาไว้
แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจาก คสช.มาเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบ การทำงานของ คตร.ถูกลดบทบาทลงทันที ซึ่งอาจจะตั้งใจให้ถูกลดงานและตั้งใจให้การทำงานเชิงตรวจสอบเงียบหายเข้าป่าช้าไป
การติดตามโครงการที่ส่อไปในทางทุจริตของ คตร.แตกต่างจากการตรวจสอบระดับตำนานของ “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ” (คตส.) อย่างมาก เพราะไม่มีการไล่บี้หรือเช็คบิลใครออกมาให้เห็น ทำแบบครึ่งๆกลางๆ ไม่ได้มีคดีที่ออกมาเป็นรูปธรรมให้เห็น และตั้งที่ “บิ๊กโย่ง - พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์” ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บทบาทในฐานะประธาน คตร.หายไปทันที
คดีที่มีการสอบสวนอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็แค่คดี “โคตรไมค์” ที่จัดเตรียมไว้ใช้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่สุดท้ายทนกระแสสังคมไม่ไหวก็ต้องยกเลิกการจัดซื้อกันไป แต่คดีนี้ก็สรุปแค่ว่าไม่มีการทุจริต แต่มีค่าส่วนต่างมากเกินไป ทำให้เป็นที่กังขาพอสมควร
สุดท้ายจับมือใครดมไม่ได้ คนร้ายลอยนวลแบบขัดสายตาประชาชน
ล่าสุดมีกรณีที่ “นพ.ยงยุทธ มัยลาภ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นโทรโข่งเบอร์หนึ่งของรัฐบาล โดนสาวไส้ออกมาให้เห็นแล้วว่า เนื้อแท้ก็มีเอี่ยวกับการรับงานจัดประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการรัฐมากมาย ไล่กันตั้งแต่ช่วงที่ “ยงยุทธ” เข้ามารับดำแหน่งโฆษกรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งหลังเหตุการรัฐประหารรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549
ในขณะนั้น “บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด” ของ “หมอยงยุทธ” ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐ ระหว่าง วันที่ 10 ต.ค.49 ถึงวันที่ 3 ต.ค.50 อย่างน้อย 12 โครงการ รวม วงเงิน 19,766,370 บาท ประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน 2 ครั้ง 2,791,000 บาท กรมการท่องเที่ยว 3 ครั้ง 5,110,000 บาท กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ครั้ง 4,207,500 บาท กรมควบคุมมลพิษ 2 ครั้ง 2,680,000 บาท กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 1 ครั้ง 1,479,000 บาท กรมทรัพยากรน้ำ 1 ครั้ง 1,170,000 บาท สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 1 ครั้ง 1,072,500 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน 1 ครั้ง 1,256,370 บาท
การที่บริษัทของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับงานจากหน่วยงานของรัฐถือว่ามีความผิดเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่แล้ว แต่ “หมอยงยุทธ” ก็ใช้สูตรสำเร็จ โดยการลาออกจากตำแหน่ง “ผู้ถือหุ้น” ของบริษัทตัวเองล่วงหน้า
ทว่า “ยุงยุทธ” คงไม่คิดว่าตัวเองจะได้กลับมารับตำแหน่ง “โทรโข่งรัฐบาล” อีกครั้ง จึงใส่ชื่อตัวเองกลับเข้าไปเป็น “ผู้ถือหุ้น” ในบริษัทของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งเป็น “ทีมโฆษก คสช.” และ “โฆษกรัฐบาล” บริษัท ดี.เอ็ม.ฯ ของ “หมอยงยุทธ” ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 64 ครั้ง วงเงิน 114 ล้านบาท
โดยหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญามาที่สุด ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 9 ครั้ง 15,770,620 บาท กรมควบคุมมลพิษ 5 ครั้ง 9,060,400 บาท กรมการท่องเที่ยว 4 ครั้ง 6,255,669 บาท กรมพัฒนาที่ดิน 4 ครั้ง 6,195,000 บาท สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 4 ครั้ง 6,157,900 บาท กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 4 ครั้ง 5,610,000 บาท
ข้อมูลการรับงานหน่วยงานของรัฐของบริษัท ดี.เอ็ม.ฯ ถือว่าผูกขาดรับโครงการไม่ใช่น้อย และแน่นอนโครงการรัฐเหล่านี้หากเส้นไม่ใหญ่พอ ไม่มีทางที่จะเข้าไปถึงตัวโครงการได้ง่ายๆ
พอเรื่องแดงขึ้นมา ทาง “สำนักข่าวอิศรา” ที่เกาะติดเรื่องนี้ก็ได้สอบถามไปยัง “หมอยงยุทธ” เกี่ยวกับการรับงานดำเนินการประชาสัมพันธ์การจัดงานธงฟ้าคืนความสุข ลดค่าใช้จ่ายประชาชน วงเงิน 4,280,000 บาท โดยมีระยะเวลาสิ้นสุด วันที่ 28 ก.ย. 2557 แต่ “หมอยงยุทธ” กลับปฏิเสธทันควันว่าได้ขายหุ้นของบริษัท ดี.เอ็ม.ฯ ไปแล้ว
แต่เมื่อตรวจสอบหลักฐานย้อนหลังพบว่า “หมอยงยุทธ” ขายหุ้นของบริษัท ดี.เอ็ม.ฯ ในเดือนก.ค.2557 ซึ่งนั่นหมายความว่า “หมอยงยุทธ” เข้ามาทำงานในฐานะ “ทีมโฆษก คสช.” ก่อนแล้วจึงมีการขายหุ้น
สาเหตุที่ต้องขายหุ้นบริษัทตัวเองทิ้งอีกครั้ง ก็เดาไม่ไม่ยากว่า “หมอยงยุทธ” รู้ดีว่าหลังจากจะมี “งานนอก - งานใน” วิ่งเข้าหาจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยจึงต้องชิง “ขายหุ้น” ทิ้งไปก่อน ไม่เช่นนั้นหากมีการตรวจสอบเกิดขึ้นอาจจะปัดไม่พ้นตัว แม้จะไม่ได้ทุจริตใดๆก็ตาม แต่ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันทั้ง คสช. หรือกระทั่งเป็นข้าราชการการเมืองในรัฐบาล การเข้าไปมีส่วนในการรับงานจากหน่วยงานรัฐดูจะไม่งามเท่าใดนัก
และเมื่อกระจอกข่าวนำประเด็นดังกล่าวไปสอบถามกับ “บิ๊กตู่” แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ แถมสวนกลับทันควันว่า ควรให้เกียรติ “หมอยงยุทธ” ที่วันนั้นยืนอยู่ข้างกายนายกฯด้วย
วันนั้น “บิ๊กตู่” อาจจะลืมตัวไปว่าประเด็นดังกล่าวไม่ได้อยู่กับการให้เกรียติหรือไม่ให้เกรียติกันและกัน ประเด็นอยู่ที่ว่ามีการใช้ “ตำแหน่ง” เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพวกพ้องหรือไม่ หากเป็นอย่างนั้นจริงก็ควรมีการตรวสอบให้แน่ชัด เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเอง
อย่าลืมอีกว่า “รัฐบาลบิ๊กตู่” ประกาศชัดเจนว่าต้องการปราบปรามการทุจริตให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย แต่หาก “ลูกน้อง” ของตัวเองมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตแล้ว “บิ๊กตู่” ออกมาปกป้อง การทำงานใหญ่ในการปราบปรามการทุจริตคงไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีวันได้เห็นอย่างแน่นอน
ล่าสุดได้ข่าว “บิ๊กตู่” รู้สึกตัวแล้ว สั่งการให้มีการตรวสอบการรับงานโครงการรัฐของ “หมอยงยุทธ” อย่างเร่งด่วน ขั้นตอนต่อไปอยู่ที่ว่าการตรวจสอบจะโปร่งใสชัดเจนมากเท่าไร งานนี้หวังว่าคงไม่มีแค่คำว่า “ส่วนต่างมากเกินไป” เหมือนกรณี “ไมค์ทองคำ”
เพราะคำถามคือ มีการใช้ตำแหน่งในการรับงานภาครัฐหรือไม่??
เหนือสิ่งอื่นใดคือความไม่มั่นคงในตำแหน่งโฆษกรัฐบาลของ “หมอยงยุทธ” ที่อาจจะตกเก้าอี้ก่อนเวลาอันสมควร เพราะข่าวว่ากุนซือข้างกาย “บิ๊กตู่” แนะว่า ควรตัดเนื้อร้ายทิ้งก่อนที่จะลุกลามเป็นมะเร็งกัดกร่อนรัฐบาล
จากผลสอบ “โคตรไมค์” ที่กลายเป็นมวยล้ม มาถึงการตรวจสอบคนกันเองอย่างกรณี “หมอยงยุทธ” เป็นบทพิสูจน์หัวใจของ “บิ๊กตู่”ว่าจะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิดจริงหรือไม่
หากท่าดีทีเหลวอีก ก็อย่าไปคิดจัดการกับ “นักการเมือง” คนอื่นเลย