ผ่าประเด็นร้อน
เชื่อว่าหลายคนคงเห็นด้วยกับการคาดการณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ระบุว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาแบบไหนก็ตาม เลือกตั้งคราวหน้า พรรคเพื่อไทย ก็ต้องชนะอยู่ดี รวมทั้งยังเห็นว่า การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เที่ยวนี้ ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้กำไร สามารถแก้ปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย แก้ปัญหารัฐบาล ที่เริ่มกระทบกระทั่งกับคนเสื้อแดงในช่วงปลายรัฐบาลได้อย่างลงตัว ถึงขั้นกล่าวว่า ทักษิณ น่าจะส่งไวน์ชั้นดีราคาแพง ไปมอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแสดงความขอบคุณ
แม้ว่าคำพูดดังกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีส่วนจริง และเป็นไปได้ค่อนข้างมากทีเดียว โดยเฉพาะหากสถานการณ์ และวิธีการจัดการกับปัญหาของฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันยังเป็นอยู่แบบนี้ต่อไป
แน่นอนว่า หากพิจารณาจากโรดแมป จากกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในบางมาตรา ตั้งแต่ มาตรา 8(4) มาตรา 20 (4) และมาตรา 35(4) ล้วนเป็นข้อกำหนดเป็นกรอบผูกพันไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในปี 2558 ที่กำลังจะยกร่างในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สาระสำคัญก็คือ สกัดไม่ให้นักการเมืองที่เคยต้องข้อหาทุจริต เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เคยถูกคำสั่งที่ “ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งมีการตีความว่าต้องหมายรวมถึงการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งมติให้ใบแดง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น
ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องสงสัยว่า คนอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ก็ต้องถูกห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมืองตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีพวกที่เรียกว่า บ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เช่น บรรหาร ศิลปอาชา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พินิจ จารุสมบัติ หรือแม้แต่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะถูกห้ามลงสู่สนามการเมืองตลอดไปเช่นเดียวกัน **นั่นคือหมดสิทธิ์แม้กระทั่งนั่งเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) กันเลยทีเดียว
นี่เส้นทางตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกกำหนดไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2557 มาตรา 35 ที่มี 10 อนุมาตรา หรือที่เรียกว่า “บัญญัติ 10 ประการ” และที่ผ่านมาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่าง สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็เคยยืนยันแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเดินตามกรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 ดังกล่าว
ทีนี้คำถามก็คือ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนั้น ตัดสิทธิ์ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งพวกเขี้ยวลากดินทางการเมืองอีกเกือบ 300-400 คน ที่รวมทั้ง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นิคม ไวยรัชพานิช และอดีต ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมยกมือโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เข้าไปด้วยนั้นคนพวกนี้จะยอมหรือ ก็คงไม่ แล้วอย่างนั้นไม่ป่วนหรือ แน่นอนว่าต้องป่วน เพราะคนพวกนี้ตลอดชีวิตแทบทั้งหมดทำมาหากินสร้างฐานะสร้างอำนาจด้วยการลงทุนด้วยการเมือง เป็น “นักธุรกิจการเมือง” พวกเขาย่อมไม่ยอมแน่ ต้องส่งสัญญาณให้ลิ่วล้อออกมาป่วน ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มขยับออกมาบ้างแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้เงื่อนไข “เผด็จการ” ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาจากการรัฐประหารมาปิดกั้นไม่ได้
อย่างไรก็ดี การสลัดทิ้งพวกนักการเมืองรุ่นเก่าเหล่านี้ออกไป ก็ย่อมทำได้ ด้วยการใช้ความกล้าหาญ ชี้แจงทำความเข้าใจให้สังคมโดยเฉพาะสังคมในชนบทให้ตาสว่าง ทำให้เห็นถึงพิษภัยของโครงการ “ประชานิยม” พร้อมๆ กับการสร้างผลงานให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์ แต่กลายเป็นว่าในเวลานี้เป็นการ “ซุกขยะไว้ใต้พรม” ไม่มีการแตะต้องระบอบทักษิณ อีกด้านหนึ่งยังสงสัยว่า อาจจะแตะมือสวมตอผลประโยชน์ร่วมกันเสียอีก
ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ก็มีแนวโน้มป่วนแน่ เสียของ ซึ่งก็จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่ว่ารัฐธรรมนูญออกมาแบบไหน ระบอบทักษิณ ก็ชนะอีก !!