กกต.ร่วมมือ สช.เร่งนำหลักสูตร “หน้าที่พลเรือน” บรรจุเข้าหลักสูตรภาคเรียนหน้า ปรับพฤติกรรมรักประชาธิปไตย คาดเห็นผลภายใน 1-2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (20 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกต. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พร้อมทั้งได้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยมีนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วมบรรยาย เรื่องความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีตัวแทนครูจากโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง
นายประวิชได้ย้ำถึงการทำงานของ กกต.ว่า ไม่ได้ดูแลเฉพาะการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตเท่านั้น แต่มีหน้าที่ต้องให้ความรู้ เผยแพร่ประชาธิปไตยด้วย การมีส่วนร่วมต้องคำนึงถึงคุณภาพ และโดยส่วนตัวอยากให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยพัฒนาได้เหมือนประเทศอื่นๆ รวมทั้งดีใจที่มีการนำเรื่องของหน้าที่พลเมืองเข้ามาในหลักสูตร ซึ่งเป็นไปตามค่านิยม 12 ประการ ที่เป็นนโยบายของคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล การกำหนดหลักสูตรหน้าที่พลเมืองเป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี ตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 ในการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย ตระหนักในบทบาทหน้าที่ กระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ และเรียนรู้กระบวนการเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ
จากนั้น นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ได้แถลงข่าวร่วมกับนายพิชัย แก้วสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยนายภุชงค์กล่าวว่า การจัดหลักสูตรวิชาหน้าที่พลเมืองให้แก่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอีกส่วนหนึ่งจากที่ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งวิชาหน้าที่พลเมืองที่ กกต.และสช.ผลักดันอยู่นี้ เป็น 2 ประการ จากค่านิยม 12 ประการ คือ ข้อ 1. การจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และข้อ 7. การส่งเสริมประชาธิปไตย ขณะที่วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ทาง สพฐ.และสช. โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการแบ่งวิชาต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายไปจัดกิจกรรมที่เน้นการเป็นแบบอย่างที่ดี ทำต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนนำไปปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต อย่างไรก็ตาม จะมีการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
นายภุชงค์ยังให้ความมั่นใจว่าการนำวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 2 จะมีการเปิดเทอมในช่วงเดือนพ.ย.นี้ ยังไม่ถือว่าสายเกินไปโดยหลักจากบรรจุเข้าไปในหลักสูตรแล้วนั้นจะมีการติดตามผลในแต่ละเทอม โดยมีคณะทำงานร่วมกันในเรื่องพฤติกรรมการเรียนรู้พื้นฐานต่างๆ ที่เชื่อว่าจะออกมาอย่างชัดเจน อาทิ พฤติกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย วิถีชีวิตตามแนวทางประชาธิปไตยที่คณะติดตามจะสามารถดูและวัดผลได้ ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปี จะเห็นผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรม