รองโฆษกสำนักนายกฯ เผยการประชุมร่วม ครม.-คสช. “ประยุทธ์” เผยขอเสวนวิชาการให้ยื่นที่ คสช. ย้ำใช้กฎหมายพิเศษต้องระวัง สั่งทุกหน่วยสรุปผลงาน 3 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่ สั่ง คตร.เร่งสอบไมโครโฟนแพง มอบ “ดาว์พงษ์” นั่ง ปธ. แก้ไขปัญหาที่ดิน “วิษณุ” หั่นคณะกรรมการเพื่อประหยัดงบฯ แจงปรับโครงสร้างท้องถิ่นไม่เคยมีใครพูด สั่งทำทางจักรยานในภูมิภาค มอบ “หม่อมอุ๋ย” วางมาตรการจ่ายชาวนาหนึ่งพัน ด้านวิษณุแจงมอบนโยบายสื่อรัฐเสนอข่าวงานของรัฐ เสนอกฎหมายเข้า สนช. แล้ว 34 ฉบับ
วันนี้ (7 ต.ค.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อเวลา 15.30 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมร่วมระะหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการครั้งที่ 1 โดยใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ว่า เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง คสช. และ ครม.ครั้งแรก ซึ่งปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 42 ซึ่งจะมีการประชุมเช่นนี้ในทุกเดือน ซึ่งการพบปะประชุมหารือกันครั้งนี้พยายามที่ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องที่ปฏิบัติงานที่สัมฤทธิ์ไปแล้ว และกำลังอยู่ในแผนงานปฏิบัติ และกำลังจะทำในอนาคต อย่างไรก็ตาม วันนี้ไม่การหารือเรื่องกฎอัยการศึกแต่ประการใด
ในการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ปรารภเรื่องแรก โดยท่านขอเชิญชวนให้ข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ร่วมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่ง ครม.และ คสช.ไปลงนามถายพระพรแล้วก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นเรื่งสำคัญ และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า นายกฯ ปรารภด้วยว่าทุกส่วนของ คสช. และรัฐบาลจะต้องพยายามใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ การใช้กฎหมายพิเศษที่จำเป็นบางประการขอให้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง คสช.กับรัฐบาล และให้ระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งการขอจัดการเสวนาทางวิชาการ ลักษณะที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ที่มีการเสนอขออนุญาตมาสองทิศทาง คือ เสนอที่ คสช. และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้แนวทางว่า หากมีการเสนอมาที่นายกฯ ท่านจะส่งกลับไปที่ คสช. ให้พิจารณาว่าจะอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้หรือไม่ เพื่อช่วยกันสร้างบรรยกาศการปรองดองที่จะมีการปฏิปบ้านเมือง อะไรสุ่มเสี่ยงทำให้สถานณ์การดูไม่ดี ขอให้ทุกฝ่ายระงับยับยั้งเอาไว้ก่อน
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอให้ทุกหน่วยงานจัดทำผลงานที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ในโอกาสที่กำลังจะถึง 3 เดือนของรัฐบาล เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน และขอให้ทุกหน่วยงานต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่า สิ่งที่ทำไปแล้วมีอะไร เกิดมรรคผลหรือมีผลกระทบ หรือทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร เพื่อให้เป็นของขวัญจริงๆ
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า นายกฯ ได้เน้นย้ำว่าสิ่งที่ต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรมจะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ จะต้องแก้ปัญหาเก่า ไม่เป็นชนวนความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก ส่วนอะไรที่เป็นเหตุความขดแย้งต้องใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการ เพื่อให้ไม่มีข้อครหาว่าฝ่ายนี้ทำไมดำเนินการ ฝ่ายนี้ทำไมดำเนินการ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ
ส่วนการจัดระเบียบสังคมของภาครัฐที่ทำให้ผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้น้อยและมีผลกระทบ ท่านขอให้ความสำคัญว่าหน่วยงานต้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่จัดระเบียบสังคมอย่างเดียว โดยละเลยความเดือดร้อนของที่ผู้เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการให้เป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมจริงๆ
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยกำหนดมาตรการชัดเจนทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ถ้าพบการทุจริตจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และให้มีการปรับย้ายให้มาอยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงานทันทีและลงโทษตามบทบัญญญัติทางวินัย ซึ่งในช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวเร่งรัดเรื่องไมโครโฟนที่คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กำลังตรวจสอบ ซึ่งทราบว่าใกล้จะเสร็จแล้ว หาก คตร.พบว่าผิดกฎกติกาหรือไม่อย่างไร จะต้องนำเรียนท่านนายกฯ ด้วย
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอ้างถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่า นายกฯ ระบุว่า รัฐบาลจะดำรงอยู่ได้นอกเหนือจากผลงานยังจะต้องเน้นเรื่องของการป้องกันไม่ให้เกิดทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่แค่ส่วนกลางเท่านั้น ต้องลงไปถึงระดับส่วนท้องถิ่นด้วย ที่มีมาตรการแต่ละขั้นตอน ถ้าตรวจพบจะต้องดำเนินการปรับย้ายให้พ้นตำแหน่งหน้าที่ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษ
เมื่อถามว่าจะมีการลงโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คงต้องดูผลสรุปก่อนว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ลงโทษอย่างเดียว เมื่อถามว่า แบบนี้อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือรองเลขาธิการนายกฯ จะต้องถูกย้ายออกจากตำแหน่งก่อนหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า “พี่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้เพราะยังไม่รู้ผลการสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับผู้ใดบ้าง”
พล.ต.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่เกษตร โดยมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ ในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินขึ้นมาโดยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหนึ่งคณะ มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการแก้ไขปัญหา
รองโฆษกกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่แต่ละกระทรวงมีคณะกรรมการหลายชุดขอให้มีการทบทวนว่าคณะกรรมการแต่ละเรื่องที่จะแก้ปัญหามันเยอะมากเกินไปจนเชื่อว่าการประชุมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์คงเป็นเรื่องยาก จึงขอให้ทบทวนว่าจำเป็นหรือไม่ เพื่อประหยัดงบประมาณจัดการประชุมและเกิดผลสัมฤทธิ์มากน้อยแค่ไหน จึงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จัดการในเรื่องนี้
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโยนหินถามทางกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่องปรับโครงสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลและพื้นที่การปกครองพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้นายกฯ ได้ชี้แจงยืนยันว่าไม่เคยมีใครเคยพูดเรื่องนี้มาก่อน ไม่รู้ใครพูด และยืนยันว่าเรื่องนีไม่เคยมีการพูดกัน อย่างไรก็ตาม ขอให้เป็นเรื่องสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการคิดปฏิรูปในทุกๆ เรื่อง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงเรื่อง “ทางจักรยาน” ว่า ไม่ใช่ให้ดำเนินการเฉพาะใน กทม.เท่านั้น แต่ขอให้ทำในพื้นที่ภูมิภาคด้วย เพราะอะไรที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ช่วยผ่อนคลาย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงขอให้ทำเต็มที่โดยเฉพาะในเรื่องเส้นทางจักรยาน
ส่วนเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาจำนวน 1,000 บาทต่อไร่ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไม่มั่นใจว่าเงินจะถึงมือเกษตรกรหรือจะเป็นคนที่เป็นเจ้าของที่ดินมารับเงินแทนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ขอให้วางแผนให้ชัดเจน เพราะนับแล้วยังมีเวลาดำเนินการทัน เพราะจะเริ่มจ่ายเงินวันที่ 20 ต.ค. โดยขอให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รับไปดำเนินการ และเร่งรัดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาชี้แจงมาตรการว่าจ่ายไปแล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและจะถึงมือเกษตรกรชาวนาจริงๆ
ส่วนกรณีที่ ครม.มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลนั้น โดยนายวิษณุได้รายงานว่าได้ประชุมกับกรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และได้กำหนดแนวทางขอให้ทั้งสองหน่วยงานเสนอข่าวและประชาสัมพันธ์งานของรัฐและรัฐบาลนอกเหนืองานปกติ ต้องเสนอข่าวในเชิงรุกสามด้าน คือ 1. เผยแพร่ค่านิยม 12 ประการ ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งคิดขึ้นมา ให้เป็นการประมวลคุณธรรมที่มีในสังคม เมื่อรัฐบาลจบภารกิจแล้วค่านิยม 12 ประการจะยังอยู่กับสังคม
2. เรื่องการเสนอข่าวมติ ครม. ขอให้อย่าเสนอเฉพาะเรื่องของคณะกรรมาธิการใครเป็นประธาน ใครเป็นเลขาธิการ ขอให้เสนอผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนว่าเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้อะไรจากมติ ครม.เหล่านั้น และ 3. นำเสนอเรื่อง สปช. โดยให้สนับสนุนการทำหน้าที่ สปช. จะทำหน้าที่คือนำเสนอเรื่องที่ สปช.กำหนด หรือคิดเป็นแนวทางว่ามีอะไรเกิดขึ้น และทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของ สปช. ด้วย
นอกจากนี้ เรื่องข้อกฎหมาย นายวิษณุรายงานว่า ขณะนี้มีกฎหมายที่ คสช.และรัฐบาลเสนอเข้าไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวม 34 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เสนอโดย คสช. จำนวน 21 ฉบับ เสนอโดยรัฐบาล 13 ฉบับ รอเข้าพิจารณาใน สนช. วาระแรกจำนวน 8 ฉบับ และเข้าพิจารณาในวาระแรกแล้ว 22 ฉบับ ประกาศใช้แล้ว 1 ฉบับ และรอขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ ถวายอีก 3 ฉบับ