xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางไม่ต้องน้อยใจ “หม่อมอุ๋ย” จัดให้ไร่ละพัน พ.ย. นี้ พร้อมรับซื้อยางโดยตรง-ดึงราคาโลละ 60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เผยข่าวดีสต๊อกยางโลกลดลง เชื่อราคาจะถีบตัวสูงขึ้น เตรียมรับซื้อยางชาวสวนโดยตรง 2 หมื่นล้าน เข้าสต๊อก ควบคู่ให้ อสย. ซื้อยางจากตลาด กู้ 6 ธนาคาร 1 หมื่นล้าน ซื้อน้ำยางชาวสวน เตรียมให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1 พันบาท คาดเริ่มจ่ายต้นเดือน พ.ย. นี้ พร้อมพยุงราคาให้ได้กิโลละ 60 บาท ส่วนชาวสวนยางที่ต้องโค่นยาง กู้เงิน ธ.ก.ส. รัฐช่วยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 รอ ครม. อนุมัติ ยันไม่ใช่ประชานิยม

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวรายงานในที่ประชุมว่า มีข่าวดีรายงานต่อที่ประชุม เนื่องจากรายงานสถิติของสต๊อกยางโลกและของไทยมีปริมาณยางลดลง หลังปีที่แล้วปริมาณยางโลกอยู่ที่ 2.9 ล้านตัน ขณะที่ปีนี้ปริมาณอยู่ที่ 2.3-2.5 ล้านตัน เช่นเดียวกับปริมาณยางของประเทศไทยปีที่แล้วอยู่ที่ 5.3 แสนตัน จนถึงเดือนกันยายน ปริมาณลดลงเหลือเพียง 4.4 แสนตัน ทำให้เชื่อได้ว่าราคายางของประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟด) มีปริมาณความต้องยางการยางสูงขึ้น

จากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แถลงผลประชุม กยน. ว่า ที่ประชุมได้สรุปมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้น รัฐบาลจะซื้อยางจากชาวสวนยางโดยตรง โดยใช้งบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเข้าสต๊อกของรัฐ และอาศัยจังหวะที่ราคายางโลกสูงขึ้น ทยอยส่งขายออกตามออเดอร์ที่มีการสั่งซื้อ ซึ่งขณะนี้มีออเดอร์สั่งซื้อมาแล้วต่อเนื่องทุกเดือน ควบคู่กับการให้องค์การสวนยาง (อสย.) เป็นผู้ซื้อยางจากตลาด และสหกรณ์ยาง เพื่อมาขายให้รัฐเข้าสต๊อกเช่นกัน ขณะเดียวกัน ได้ประสานกระทรวงพาณิชย์ หลังกำหนดมาตราการระยะยาว โดยเบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ที่ตอบรับ คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต เพื่อปล่อยสินเชื่อ รวมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อน้ำยางจากชาวสวน มาทำธุรกิจน้ำยางข้น

รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อยที่มีพื้นที่ทำสวนยางไม่เกิน 15 ไร่ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือ ไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายได้ภายในต้นเดือนพฤษจิกายนนี้ ขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่จะต้องสำรวจและตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง แต่จากการสำรวจเบื้องต้น มีชาวสวนยางที่ต้องช่วยเหลือจำนวน 8.5 แสนราย วงเงิน 8.5 พันล้านบาท รัฐบาลจะพยายามดึงราคายางให้อยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมขณะนี้ราคาอยู่ที่ 45-47 บาทต่อกิโลกรัม โดยมาตราการทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ระบุไว้ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อจาก ธกส. และธนาคารพาณิชย์ รัฐจะช่วยผ่อนปรนดอกเบี้ยร้อยละ 3

นอกจากนี้ ที่ประชุม กนย. ยังเสนอทางเลือกให้กับชาวสวนยาง ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 25 ไร่ และชาวสวนยางที่ถึงเวลาต้องโค่นต้นยาง สามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ได้ ในโครงการสินเชื่อปรับปรุงสวนยาง เพื่อนำไปทำอาชีพเสริมควบคู่กับการปลูกยาง หรือรอเวลากรีดยางด้วย ซึ่งรัฐก็จะช่วยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 เช่นกัน โดยไม่เกินวงเงิน 1 แสนบาทต่อครัวเรือน ในกรอบเวลากู้ 5 ปี รวมวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท และจากการสำรวจจะสามารถช่วยได้ 1.5 แสนราย อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะเริ่มดำเนินการได้หลังผ่านมติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เพื่อให้ชาวสวนยางสามารถเดินหน้าต่อไปได้








กำลังโหลดความคิดเห็น