xs
xsm
sm
md
lg

พท.ขยับบุกสภา-ทำเนียบค้าน สนช.ถอดคนผิด อ้างไร้ กม.รองรับ จี้ “บิ๊กตู่” ปราม 2 องค์กร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แก๊งเพื่อไทยยกพลบุกสภายื่นหนังสือค้าน สนช.ถอด “สมศักดิ์-นิคม-ยิ่งลักษณ์” อ้างเฉยไม่มีกฎหมายรองรับ แถม ม.68 ถูกยกเลิกไปแล้วคดีจึงไม่มีประโยชน์ ซ้ำพ้นตำแหน่งแล้วจึงไม่ควรทำ แถไม่ได้เคลื่อนไหวการเมืองจริงๆ ด้าน “พรเพชร” โยนที่ประชุมพิจารณา ขณะที่ก๊วนบุกทำเนียบต่อ โวย ป.ป.ช.ทำคดีมีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง จี้ “ประยุทธ์” ปราม 2 องค์กร



วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา 2 เมื่อเวลา 10.45 น. นายอำนวย คลังผา อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านไม่ให้ สนช.พิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ พร้อมนำรายชื่ออดีต ส.ส. และประชาชนกว่า 90 คนร่วมลงชื่อคัดค้าน

โดยนายชวลิตกล่าวว่า การยื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในการถอดถอน โดยมีเหตุผล 2 ข้อ คือ 1. รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ไม่ได้ระบุเรื่องการถอดถอนไว้ ดังนั้น การที่ สนช.จะไปตีความว่าตัวเองมีอำนาจถอดถอนโดยอาศัยข้อบังคับ สนช.ที่กำหนดขึ้นเองย่อมทำไม่ได้ เพราะจะเป็นการขยายอำนาจให้ สนช.มากเกินไป ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 53-58/2557 วันที่ 6 ส.ค. 57 กรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยกเลิกไปแล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีต่อไป 2. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งอีก เมื่อปรากฏว่าทั้งนายสมศักดิ์ และนายนิคมพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจึงขาดองค์ประกอบในการถอดถอนออกจากตำแหน่งอีก

ขณะที่นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองตามข้อห้ามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เป็นการทำหน้าที่ของประชาชนเพื่อเรียกร้องต่อ สนช.ให้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่ คสช.วางนโยบายไว้ หากต้องการให้กระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้นจริง สนช.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำให้ถูกต้อง เป็นแบบอย่างที่ดี หาก สนช.ยังถอดถอนต่อไป อาจสร้างความขัดแย้งแตกแยกยิ่งขึ้น และจะถูกตั้งคำถามว่า ปฏิบัติหน้าที่สองมาตรฐานหรือไม่

ด้านนายพรเพชรกล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ในการประชุม สนช.ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ จะนำเรื่องการถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม พ้นจากตำแหน่งหรือไม่เข้าพิจารณาว่า สนช.จะมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ จากนั้นจะใช้มติเสียงข้างมากว่าจะรับเรื่องหรือไม่ เข้าใจว่าจะยุติได้ในวันเดียว ทั้งนี้ หากที่ประชุมมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอนตามข้อบังคับการประชุม สนช.ต่อไป แต่ถ้าไม่รับก็เป็นอันยุติ โดยยืนยันว่า สนช.ได้พิจารณาตามอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่มีปัญหาเนื่องจากเป็นกรณีต่อเนื่อง แต่หากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นปัจจุบัน และมีความผิดชัดเจน ประธาน สนช.มีอำนาจสั่งบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาได้เลย

นายพรเพชรกล่าวต่อว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสนช.ท่ามกลางบ้านเมืองแบบนี้ขอยืนยันว่าเราทำหน้าที่โดยยึดหลักนิติรัฐ ยึดกฎหมายเป็นหลัก โดยจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย แม้ว่า สนช.ไม่ได้มาจากประชาชน แต่ก็จะทำประโยชน์เพื่อประชาชน และจะพิจารณาทุกเรื่องด้วยความเป็นธรรม ตรวจสอบได้

ต่อมาเวลา 11.10 น.ได้เดินทางไปที่ศูนย์บริการประชาชน (ชั่วคราว) ก.พ. เพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดตามแนวนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 63/2557 โดยมีนายสาทิตย์ สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน เป็นตัวแทนรับ

โดยนายชวลิตกล่าวว่า ตามที่ คสช.ออกประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อให้องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานอื่นของรัฐให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม มีบรรทัดฐานชัดเจนในการดำเนินคดีตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดที่อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกในสังคม ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และไม่การเลือกปฏิบัติ

นายชวลิตกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังจะพิจารณาเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้ สนช.พิจารณา ตนเห็นว่า สนช.ไม่มีอำนาจในการถอดถอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ได้ยกเลิกแล้ว แต่ ป.ป.ช.ยังยืนยันว่า สนช.มีอำนาจที่จะดำเนินการถอดถอนได้ ทั้งที่ไม่บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และไม่ได้กำหนดให้อำนาจ สนช.ในการถอดถอน การที่สนช.ออกข้อบังคับเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และจะใช้ถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมนั้นเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ผิดกฎหมาย ประกอบกับมูลเหตุการถอดถอนมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่บางฝ่ายนำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และอาศัยผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญร้องต่อ ป.ป.ช. อีกทั้งบุคคลทั้งสองพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วย่อมไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะถอดถอนอีก

ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.และป.ป.ช.สอดคล้องกับนโยบาย คสช. ขอให้หัวหน้า คสช.พิจารณาให้ข้อคิดเห็น และคำแนะนำที่ถูกต้องไปยังทั้งสององค์กร เพื่อขอให้ปฏิบัติตามหลักการกฏหมายที่ถูกต้อง โดยขอให้ยุติกระบวนการถอดถอนที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งไม่ใช่เป็นการแทรกแซง แต่เป็นการให้สติ ได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรม และนโยบายที่หัวหน้า คสช.กำหนดไว้

“พรรคเพื่อไทยให้ความร่วมมือ คสช.มาตลอดในการสร้างความสงบเรียบร้อย ขอยืนยันว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ที่จะทำให้ความไม่สงบเกิดขึ้น การยื่นเรื่องในวันนี้เพื่อสะท้อนเจตนารมย์ที่ คสช.เคยประกาศไว้” นายชวลิตกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น