xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"แนะสนช.ใช้มาตรา 5 ปมถอดถอน"ค้อน-นิคม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงปัญหาข้อถกเถียงประเด็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมาให้ดำเนินการ โดยปฏิเสธว่า สนช.ไม่มีเรื่องการกั๊ก ว่าจะไม่ให้มีการถอดถอน แต่เป็นเพราะเรื่องที่ป.ป.ช. ยื่นถอดถอนมานั้น เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว จึงต้องส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช.ทบทวน และหากป.ป.ช. ส่งเรื่องยืนยันความผิด ตามรัฐธรรมนูญปี 50 กลับมา ทางสนช.ก็ต้องนำกลับมาพิจารณาว่า ฐานความผิดนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ และเข้ากับกฎหมายใดบ้าง เมื่อพิจารณาแล้ว ตนก็จะใช้ดุลยพินิจบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่ได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช.
นายพรเพรช ยังปฏิเสธกระแสข่าว สนช. คืนความสุขให้กับคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) ด้วยการประกาศเพิ่มเบี้ยประชุม ว่า ไม่มีการปรับเพิ่มเบี้ยประชุม ไม่มีการคืนความสุขแต่อย่างใด มีแต่จะปรับลด โดยให้สมาชิกสามารถเบิกค่าเบี้ยประชุมได้วันละ 2 ครั้ง จากเดิมที่เบิกวันละกี่ครั้งก็ได้ ตามที่เข้าประชุม
**”วิษณุ”แนะใช้รธน.มาตรา5
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ ป.ป.ช. ส่งสำนวนถอดถอน นายนิคม ไวรัชยพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กลับมาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการถอดถอน ว่า เป็นเรื่องของ 2 องค์กร โดย ป.ป.ช.ต้องสำรวจว่า ตัวเองมีสิทธิ์ และอำนาจตามกฎหมายที่จะเสนอต่อสนช. หรือไม่ ส่วน สนช.จะพิจารณาว่า ตัวเองมีอำนาจรับไว้พิจารณาในเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งมาหรือไม่ ถ้ามีก็รับไว้ และดำเนินการไป หากใครที่ได้รับผลกระทบ ไม่พอใจ ก็มีขั้นตอนที่จะร้องศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีการใดก็ว่ากันไป ซึ่ง
เมื่อก่อนหน้านี้ ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เรารู้ว่า ปัญหามันจะมี แต่เราจงใจไม่แตะ เพราะเกี่ยวพันกับอำนาจขององค์กรต่างๆที่มีอยู่ หากมาเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะทำให้ต้องเกิดมาตราขึ้นอีกเป็นกระบวนการใหญ่ รัฐธรรมนูญ จะกลายเป็น 70 มาตราเลย จึงต้องทิ้งปัญหาให้แต่ละองค์กรคิด ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็มีศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้เข้าข่าย มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ให้ สนช.วินิจฉัยเอง หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ป.ป.ช.จะส่งไปได้หรือไม่นั้น เป็นกฎหมายป.ป.ช. ส่วน สนช.ได้รับมาแล้ว จะมีอำนาจพิจารณาหรือไม่นั้น เป็นมาตรา 5 แล้วพิจารณาไปตามเนื้อหาอะไร ข้อหาอะไร เพราะไม่มีมาตราใดรองรับอยู่ ก็อยู่ที่สนช.เขาคิดว่า จะใช้ประเพณีการปกครองประเทศไทยมาเป็นฐานในการดำเนินการได้หรือไม่ รวมทั้งไปดูคำวินิจฉัยเก่าๆ ที่เคยมีมาแล้ว กรณีที่กฎหมายพ้นไป หรือคนพ้นจากตำแหน่งแล้วยังจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ จะมีคำวินิจฉัยอยู่หลายเรื่องในเรื่องนี้ ซึ่งอำนาจตรงนี้ เราเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า ถ้าองค์กรอื่นมีปัญหาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ สนช. มีปัญหาเรื่องอำนาจให้ สนช.ตีความเอง ถ้า สนช.ตีความว่า ไม่มีอำนาจ ก็จบ ถ้าตีความว่ามีอำนาจ ก็จบ แต่หากคนอื่นไม่จบ เพราะได้รับความเดือดร้อน หรือได้รับความเสียหาย ว่าสนช.ไม่มีอำนาจ เขาก็มีสิทธิ์ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า หากมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ตรงกับที่ สนช. ตีความ จะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญใหญ่ที่สุด เมื่อถามว่าแสดงว่าคิดไว้เหมือนกันว่า จะต้องมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดอีกตั้ง 100 ข้อ ตอนนี้มาข้อเดียว รออีก 99 ข้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น