ผ่าประเด็นร้อน
คลอดออกมาแล้วสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเป็นล็อตแรก วงเงินรวมกันกว่า 3.24 แสนล้านบาท ภายใต้การผลักดันของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล โดยเงินก้อนดังกล่าวมาจากหลายส่วน โดยรวมๆ ก็เป็นงบประมาณเบิกจ่ายเพื่อกันไว้เหลื่อมปีตั้งแต่ปี 48-56 เงินงบประมาณปี 57 ที่ค้างท่อกว่า 1.4 แสนล้านบาท งบประมาณปี 58 ที่ต้องเร่งรัดรายจ่ายการลงทุนในช่วงสามเดือนแรก 1.29 แสนล้านบาท งบกลาง และงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี ปีงบประมาณ 55-57 อีกกว่า 2.3 หมื่นล้าน งบไทยเข้มแข็งที่เหลืออีก 1.5 หมื่นล้านบาท โดยการใช้งบดังกล่าวมีการกำชับให้มีการเบิกจ่ายกันตามตารางเวลาอย่างเข้มงวด เรียกร้องมีการติดตามเร่งรัดกันแบบรายสัปดาห์รายเดือนเลยทีเดียว
นี่คือมาตรการกระตุ้นล็อตแรกที่ออกมาจากรัฐบาลชุดนี้ เป้าหมายก็คือดึงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมาตามความคาดหมาย ล่าสุดจากการแถลงตัวเลขของตัวแทนธนาคารโลกประจำประเทศไทยที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เหลือแค่ร้อยละ 1.2 เท่านั้น เนื่องจากมีปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายตัวขยายตัวต่ำกว่าคาดหมาย
โดยก่อนหน้านี้ คสช.และหลายหน่วยงานคาดหมายตรงกันว่าอัตราการขยายตัวในปี 2557 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 เนื่องจากการส่งออกการลงทุนเริ่มขยายตัว รวมถึงการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้นหลังจากการเมืองเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ดี ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะตัวเลขเมื่อเดือนสิงหาคมการส่งออกลดลง การท่องเที่ยวก็ไม่กระเตื้อง ทำให้ต้องมีการคาดการณ์ตัวเลขกันใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะโตไม่เกินร้อยละ 1.5
ด้วยความเป็นจริงด้านตัวเลขดังกล่าวทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด ต้องรีบออกมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ในปีนี้เพื่อให้เติบโตตามเป้าให้ได้ อย่างน้อยก็ในช่วง 3 เดือนที่เหลือในปี 2557 ต้องระดมทุกสรรพกำลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องให้ได้ ซึ่งหนึ่งในความเชื่อมั่นดังกล่าวก็คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ต้องคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ในความเป็นจริงที่ต้องรับรู้กันก็คือ หากนับตั้งแต่เกิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ก็ถือว่าเป็นเวลากว่า 4 เดือน กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ห้าแล้ว แม้ว่าในรูปแบบของรัฐบาลจริงๆแล้วอาจยังไม่นาน แต่ในฐานะของ คสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่านั่นคือมีทั้งบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ก็เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และที่ผ่านมาก็มีการประกาศว่า หลังการเข้าควบคุมอำนาจ “ความเชื่อมั่น” กลับคืนมา ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมกลับคืนมา การส่งออกและการลงทุนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงแรกๆอาจมีความรู้สึกแบบนั้นได้ แต่ในความเป็นจริง พิสูจน์กันด้วยตัวเลข แทบทุกรายการไม่ได้ดีขึ้นจริง ในทางตรงกันข้ามผลออกมาในทางลบ โดยเฉพาะการส่งออก การท่องเที่ยว และที่สำคัญราคาผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ ทุกรายการตกต่ำหมด เช่น ยางพาราเวลานี้ราคาตกลงมาเรื่อยๆ เดือดร้อนกันทั่วประเทศ เพราะเวลานี้ปลูกยางกันทุกภูมิภาค ไม่ใช่มีแค่ภาคใต้กับภาคตะวันออกเท่านั้น
ที่น่าจับตาก็คือ ราคาข้าวที่ยังตกต่ำจนน่าใจหาย เวลานี้ขายได้เพียงตันละ 6-7 พันบาทไม่เกิน 8 พันบาท ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายแพงขึ้น มาตรการในการช่วยเหลือของรัฐบาลในเรื่องการลดต้นทุนเอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้ผลจริง ไม่ได้ลดลงจริง และน่าเป็นห่วงก็คือ นี่ขนาดเป็นช่วงที่ข้าวนาปียังไม่ออกมาราคายังตกต่ำได้ขนาดนี้ อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าปริมาณข้าวนาปีก็จะออกมาสมทบกันแล้วก็น่ากังวลว่าราคาจะตกต่ำลงไปอีก
คำถามก็คือ หากสถานการณ์ด้านราคาผลผลิตทางการเกษตรยังไม่กระเตื้องขึ้น รับรองว่าย่อมมีผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึง คสช.โดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเรื่องปากท้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แน่นอนว่าหากพิจารณาจากต้นตอของปัญหาย่อมมีหลายสาเหตุ บางอย่างอยู่เหนือการควบคุมจากปัจจัยภายนอก แต่ก็อย่างว่าแหละชาวบ้านเขาไม่ฟัง ที่บอกว่าต้องแก้ปัญหาในระยะยาว มีปัญหาสะสมมานานต้องใช้เวลา แต่ในเรื่องเฉพาะหน้าจะทำอย่างไร ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าเทอม กำลังประดังเข้ามา ทุกอย่างกำลังหน้ามืด
หากแยกพิจารณาเฉพาะในประเด็นชาวนาซึ่งทั่วประเทศมีจำนวนหลายล้านคน และยังถือว่าเป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญอีกด้วย รับรู้กันอยู่แล้วว่าหากราคาข้าวยังตกต่ำลงไปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลและ คสช.แน่นอน ดังนั้นจะด้วยเหตุผลนี้หรือเปล่าทำให้ต้องมีมาตราการช่วยเหลือชาวนาโดยโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเอาไว้สำหรับคนที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่จะได้รับเงินสดไร่ละ 1 พันบาท ส่วนที่เกิน 15 ไร่ก็จะได้ครอบครัวละไม่เกิน 15,000 บาท รวมแล้วต้องใช้เงินในส่วนนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยรับปากว่าจะจ่ายเงินผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายในกลางเดือนตุลาคมนี้
แม้จะยืนยันว่านี่คือมาตรการในการลดต้นทุน ช่วยเหลือชาวนา เพื่อชดเชยรายได้จากการขายข้าวตกต่ำในราคาตันละประมาณ 8 พันบาท ดังนั้นเมื่อรวมกับเงินที่ช่วยเหลือก็จะพอคุ้มกับต้นทุนที่ 9 พันบาท อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในการช่วยเหลือดังกล่าวก็เหมือนกับรัฐบาลยอมรับว่ายังไม่สามารถหาทางทำให้ราคาข้าวขยับให้สูงขึ้นไปกว่าเดิมได้ จึงต้องโอนเงินไปชดเชยให้ชาวนา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าหากพูดกันแบบความจริงการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว รวมไปถึงแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวมกันจำนวน 3.24 แสนล้านบาท เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่าย กำลังซื้อให้กลับมากระเตื้องตามเป้าหมายอย่างเร่งด่วน แต่สำหรับชาวนามาตรการดังกล่าวยังเป็นการสกัดม็อบการเมืองอีกทางหนึ่งด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าคนกลุ่มนี้เคยผูกพันกับบางพรรคการเมือง ใช้เป็นฐานเสียงสำคัญ หากสถานการณ์ด้านราคาข้าวยังตกต่ำแบบโงหัวไม่ขึ้นแบบนี้ หากไม่ทำอะไรสักอย่าง หลับตานึกภาพก็มองเห็นอนาคตอยู่แล้วว่าปลายปีจะเกิดอะไรขึ้น!