โฆษกรัฐบาลแจงกำหนดการ “ประยุทธ์” เยือนพม่า วันแรกหารือ “เต็ง เส่ง“ ร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ-สังคม วันที่ 2 พบนักธุรกิจไทยในพม่า ด้านทำเนียบฯ ซักซ้อมอารักขาบุคคลสำคัญ พร้อมให้ทำแผนปฏิบัติงานรับมือเหตุฉุกเฉิน
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ว่าภารกิจในวันแรกของนายกฯ ทันทีที่เดินทางไปถึง นายกฯ และคณะจะพบปะหารือกับ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสหภาพพม่า โดยจะมีการหารือเต็มคณะ ในประเด็นความร่วมมือสารัตถะต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้ในช่วงค่ำวันดังกล่าว รัฐบาลพม่า จะจัดพิธีเลี้ยงรับรองนายกฯ และคณะอย่างเป็นทางการด้วย
สำหรับวันที่ 2 นายกฯ และคณะจะพบปะกับนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในประเทศพม่า เพื่อหารือถึงการลดอุปสรรคด้านการค้าการลงทุน ที่รัฐบาลไทยจะได้หารือขอความร่วมมือกับรัฐบาลพม่า ซึ่งปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยไปลงทุนที่ประเทศพม่าในหลายๆ ด้าน
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปเยือนประเทศเมียรมาร์เป็นประเทศแรก หลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ และมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพม่าถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกับไทย และขณะนี้พม่ายังรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนอยู่ด้วย ดังนั้นการเดินทางไปเยือนครั้งนี้ก็ถือเป็นการไปแนะนำตัวหลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียบปฏิบัติที่นายกฯ จะต้องเดินทางไปแนะนำตัวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ น.ส.เรณู ตังคจิวรางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานการประชุมทีมรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญในทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่อยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทำเนียบรัฐบาลฝ่ายพลเรือน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง เพื่อซักซ่อมแผนการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ตั้งแต่นายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรีต่างๆ รวมถึงอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด เตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้องต่างๆ ที่อาจเดินทางมาชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยเพื่อให้รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุ หน่วยไหนจะทำหน้าที่อะไร เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และให้นำแผนกลับมารายงานต่อที่ประชุมในครั้งต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ทำเนียบรัฐบาลจะมีตำรวจสันติบาลดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก และมีทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ขณะที่พลเรือนซึ่งมีฝ่ายรักษาความปลอดภัยในฐานะเจ้าของสถานที่ต้องร่วมมือในการดูแลความเรียบร้อยอย่างมีเอกภาพด้วย