เดลินิวส์ออนไลน์ลงบทความ “ปอกเปลือกนักบุญหน้าจอ” ซัดเปิดรับบริจาคผ่านรายการทีวีกลายเป็นธุรกิจ ไม่ต่างจากนักการเมือง หลังก่อนหน้านี้นำเสนอข่าวปูดทหารชายแดนใต้ไม่ได้เงินบริจาครายการดัง ด้าน “สรยุทธ” จวกที่ถามทหารมีเจตนาอะไร ทั้งที่เปิดบริจาคให้ตำรวจหลัง “หมวดแชน” เสียชีวิต แต่เรื่องจัดซื้ออุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่ 233 นาย อ้างกำลังส่งมอบ ทั้งที่เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี ขู่ฟ้องกลับแน่ ตัดพ้อพูดมากหาว่าเอาหน้า พูดน้อยก็ว่ามุบมิบ
วันนี้ (1 ต.ค.) เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “ปอกเปลือกนักบุญหน้าจอ” ระบุถึงการบริจาคเงินช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ผ่านรายการโทรทัศน์ มักจะเห็นผลรวดเร็ว ยอดเงินบริจาคพุ่งสูง เพราะคนบริจาคมีความเชื่อถือต่อตัวผู้ประกาศข่าว หรือผู้ดำเนินรายการ ในฐานะคนทำสื่อเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ ที่เอาข้อมูลมาบอกต่อสังคม ผู้คนจึงให้ความเชื่อถือและศรัทธา โดยมองข้ามว่า ข้อมูลที่ถูกป้อนให้ได้รับรู้นั้น จริงเท็จแค่ไหน บางรายกล้าบอกเรื่องโกหก แต่ผู้คนก็ยังเชื่อถืออยู่ จึงเป็นเรื่องที่คนทำสื่อต้องระวัง ต้องตระหนักอย่างสูง
โดยกรณีทหารใต้ทวงเงินบริจาครายการทีวีดัง สื่อไม่ได้มโน หรือหยิบประเด็นขึ้นมาเอง แต่เพราะมีนายทหารซึ่งมีตัวตนจริง โทร.ร้องเรียนเข้ามา เป็นข้าราชการทหารตัวเล็กๆ ที่ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร เมื่อมาร้องเรียนกับเดลินิวส์ออนไลน์ ซึ่งมีการตรวจสอบเบื้องต้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล จึงนำเสนอข้อสงสัยของนายทหารคนดังกล่าวออกไป เพราะมีกรณีการรับบริจาคเกิดขึ้นจริง และผู้ที่ควรจะตรวจสอบต่อไปคือสังคม ไม่ใช่สื่อ ซึ่งหลังการนำเสนอ ทำให้เห็นสังคมออนไลน์ช่วยกันตรวจสอบทำให้ข้อสงสัยคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ นักบุญหน้าจอ ต้องตอบสังคมให้เกิดความกระจ่าง เพราะที่ผ่านมา มีการทำธุรกิจบริจาคหน้าจอหลายอย่าง ที่เป็นข้อกังขาต่อสังคม เช่น การรับบริจาค แล้วติดโลโก้ต้นสังกัดตัวเอง ทั้งๆ ที่สิ่งของที่รับบริจาคเป็นของชาวบ้าน ถือเป็นการโกงทางจริยธรรม ที่ไม่ต่างไปจากนักการเมือง ใช้เงินหลวง ไปสร้างศาลา แต่ติดชื่อตัวเอง จนท้ายสุดต้องมีกฎหมายห้าม
“นักบุญหน้าจอ เมื่อได้เงินจากการบริจาคไปแล้ว จะเอาเงินไปใช้ทำอะไร แจกจริงหรือไม่ จัดหาสิ่งของจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ และเพราะความเป็นสื่อ จึงไม่มีใครอยากยุ่ง หรือข้องแวะ ทั้งยังเป็นเอกชน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ก็เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ จึงทำให้เรื่องบริจาคหน้าจอ ลอยนวลมาโดยตลอด แต่ในความเป็นจริง นักบุญหน้าจอ นอกจากจะได้บุญจากการใช้เงินคนอื่นทำบุญแล้ว ยังได้หน้าจากการสร้างกระแส สร้างภาพลักษณ์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ตัวเองดูดี” บทความระบุ
บทความในเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนที่ดีให้กับสื่อ ได้มองย้อนกลับมาดูตัวเองได้เป็นอย่างดี ว่าสื่อมีอำนาจสาธารณะ ที่ประชาชนมีความเชื่อถือและศรัทธา จึงพร้อมใจจะให้อำนาจนี้ เพื่อเอาไว้คานกับอำนาจรัฐ เมื่อสื่อมีอำนาจสาธารณะแล้ว จึงไม่ควรที่จะเอาอำนาจพิเศษที่ประชาชนพร้อมใจหยิบยื่นให้นี้ นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง แต่ดูเหมือนว่า ทุกวันนี้ยังมีสื่อจอมปลอม ที่ฉ้อฉลเอาอำนาจสาธารณะนี้ ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง จนสังคมต้องออกมาตั้งคำถามและตั้งข้อสงสัย
รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีที่เว็บไซต์ข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ นำเสนอข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นายหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ระบุว่า รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งเปิดโครงการช่วยเหลือโดยรับเงินบริจาคสมทบทุนช่วยเหลืออุปกรณ์ชุดเก็บกู้ระเบิดให้กับเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ขณะนั้นมีการประกาศว่ายอดเงินบริจาคอยู่ที่ 15 ล้านบาท แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดนำเงินบริจาคมาให้
อย่างไรก็ตาม หลังเป็นข่าวออกไป ในเว็บไซต์พันทิปออกมาตั้งข้อสังเกตว่า รายการโทรทัศน์ที่พูดถึง คือ รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อสมท. ที่มี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้เปิดบัญชีกองทุนเรื่องเล่าเช้านี้ เพื่ออุปกรณ์เก็บกู้ระเบิด โดยจะมีการจัดซื้ออุปกรณ์ส่วนบุคคล ได้แก่ หมวกกันกระสุน แว่นตากันสะเก็ดระเบิด เสื้อเกราะอ่อน กล้องติดหน้าหมวก คีมอเนกประสงค์ รองเท้ากันกระแทก ไฟฉาย ชุดหมีกันไฟ ถุงมือ เข็มขัด กระเป๋าอเนกประสงค์ และอุปกรณ์ชาร์จไฟ ซึ่งมียอดเงินบริจาคประมาณ 17.67 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 30 ก.ย. นายสรยุทธ ได้ชี้แจงว่า เงินบริจาคดังกล่าวเป็นเงินจัดซื้ออุปกรณ์ให้ตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังการเสียชีวิตของ ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ ไม่ได้เกี่ยวกับทหาร และความคืบหน้าทางมูลนิธิครอบครัวข่าวดำเนินการไปเป็นระยะอยู่แล้ว เข้าใจตรงกันว่าเป็นขบวนการบางอย่าง ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่
ขณะเดียวกัน รายการเรื่องเล่าเช้านี้ในเช้าวันเดียวกัน ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ได้ส่งมอบเงินทั้งหมดให้แก่มูลนิธิครอบครัวข่าว 3 ซึ่งได้ทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานว่าขาดเหลืออะไรที่นอกเหนือจากการจัดซื้อตามปกติของทางราชการ ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการอยู่แล้ว แต่จะแสดงน้ำใจเสริมเข้าไป และแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะ เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ตั้งประเด็นขึ้นมาเอง และสอบถามแหล่งข่าวซึ่งเรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย การรับบริจาคเริ่มต้นจากเรื่องอะไร วัตถุประสงค์อะไร วิธีไหน ยืนยันว่าไม่ใช่ทหาร และดำเนินการตามขั้นตอน
ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานที่ชัดเจน เขาต้องการอะไร ยุทธภัณฑ์เอกชนไม่สามารถจัดซื้อได้ ที่ต้องการทันทีคือเครื่องปั่นไฟ 4 ชุด ที่มอบให้ชุดอีโอดีที่นราธิวาส รับมอบชัดเจน จัดซ่อมรถกันกระสุนโดยใช้งบประมาณกว่า 3 แสนบาท เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2556 ในพื้นที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส, ปรับปรุงสถานที่ทำงานของอีโอดี ทั้งที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา จัดทำเครื่องใช้สำนักงาน โต๊ะล็อกเกอร์ ตู้เอกสารตามสเปกที่เจ้าหน้าที่ต้องการ งบประมาณ 571,000 กว่าบาท และจัดซื้ออุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่แต่ละนาย รวม 233 นาย จำนวน 12 รายการ ตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อย และกำลังจะดำเนินการส่งมอบเพราะเป็นเรื่องคนต่อคน
“อธิบายทั้งเรื่องเล่าเช้านี้ ทั้งเจาะข่าวเด่น แจ้งเป็นระยะ ถ้าแจ้งบอกมากเกินไปบางท่านก็อาจนินทาว่าเอาหน้า พอแจ้งพอสมควรก็หาว่าไม่นำเสนอ หรือมาตั้งคำถามอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นประเด็นอย่างที่บอกออกไป ในเรื่องเงินบริจาคเรารับผิดชอบ ตรวจสอบได้แน่นอน และมีขั้นตอนกระบวนการผ่านมูลนิธิชัดเจน ขณะเดียวกัน การตั้งคำถามโดยมีเจตนาทั้งที่ต้องรู้ว่าเป็นประเด็นซึ่งจะช่วยเหลือชุดปฏิบัติการตำรวจ แต่เลือกจะตั้งคำถามไปที่ทหาร ท่านมีเจตนาอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น ไปถามทหารเพื่อให้เกิดความรู้สึก ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องความมั่นคง” นายสรยุทธ กล่าว
นายสรยุทธ กล่าวว่า เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ที่สอบถามทหารมีเจตนาอะไร ตั้งคำถามให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและบิดเบือนข้อมูล จำเป็นที่จะต้องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องต่อไป ยอมรับว่าต่อไปทำอะไรก็ต้องคิดมากขึ้น
ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ ได้ค้นดูรายการย้อนหลัง พบว่าเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2556 นายสรยุทธ ได้กล่าวถึงการบริจาคผ่านกองทุนเรื่องเล่าเช้านี้ เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์แก่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิดว่า “มีผู้ชมจำนวนมากอยากมีส่วนร่วมแสดงน้ำใจสนับสนุนเครื่องมือหรือสิ่งที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดต้องการ” ไม่ได้ระบุให้ชัดว่าเงินบริจาคดังกล่าว จะสนับสนุนอุปกรณ์แก่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิดเฉพาะตำรวจ อาจทำให้ผู้บริจาคเข้าใจว่าเป็นการมอบให้ในภาพรวม ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ชุดอีโอดีของตำรวจเท่านั้น แต่ยังมีชุดกู้ระเบิดของทหารสังกัด กอ.รมน.ทั้ง 3 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วน จ.สงขลามีชุดกู้ระเบิดของ มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่โดยทั้งหมดนี้ยังปฏิบัติภารกิจกู้ระเบิดอยู่ทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์พันทิปในกระทู้ “ทหารใต้ทวงเงินบริจาครายการทีวีดัง” ยังพบว่ามีความเห็นบางส่วนสนับสนุนท่าทีของนายสรยุทธ โดยระบุว่า ที่กล่าวว่าหน่วยงานใดต้องการหมายถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการร้องขอเข้ามายังมูลนิธิครอบครัวข่าว 3 อย่างเป็นทางการ การดำเนินการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ถือว่าเป็นอาวุธสงคราม เอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ ยังโจมตีเดลินิวส์ออนไลน์ว่าทีเจตนาโจมตีช่อง 3 ฝ่ายเดียว บางความเห็นระบุว่า งบทหารเยอะแยะ ยังขออีกเหรอ ให้ตำรวจเขาเหอะ แต่ก็ยังมีความเห็นบางส่วนที่มองว่า ระยะเวลาผ่านไปกว่า 1 ปี ทำไมตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดยังไม่ได้ของ อีกทั้งทางรายการควรที่จะแสดงหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะเป็นเงินบริจาคมาจากประชาชน ควรเอาใจใส่มากกว่าภาษี
อ่านข่าว “ทหารใต้ทวงเงินบริจาครายการทีวีดัง” จากเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
อ่านข่าว “สรยุทธ” พล่านแจงเงินบริจาค จากเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์