ข่าวปนคน คนปนข่าว
เวทีเสวนา“ถาม-ตอบพลังงาน”ที่จัดมาแล้วสองครั้ง โดยมีหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เป็นผู้ดำเนินรายการนั้น เป็นสัญญาณเตือนประชาชนว่า
“ถ้าหวังให้มีการปฏิรูปพลังงาน ต้องร่วมกันออกแรงตรวจสอบ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้จากพลังของประชาชนเท่านั้น”
เสียง“เห่าหอน”ที่ ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. บริภาษกลางเวที เพราะไม่พอใจการเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนอนุรักษ์พลังงานของ วีระ สมความคิด นอกจากจะสะท้อนถึงวิธีคิดของกลุ่มทุนที่เชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในขณะนี้ เกี่ยวกับความไม่ยอมรับการตรวจสอบ ไม่พร้อมแก้ไขความผิดพลาดแล้ว ยังเป็นบูมเมอแรง ย้อนกลับไปหา ปิยะสวัสดิ์ เองด้วย
เพราะ“หมาเฝ้าบ้าน”ที่ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน“จะไม่เห่าถ้าไม่เห็นโจร จะไม่หอนถ้าไม่เห็นผี”ถ้ามีเสียง “เห่าหอน”ดังขึ้นที่เวทีดังกล่าว ก็แสดงว่ามี“โจรและผี”ปะปนอยู่ในหมู่คนที่ต้องการปฏิรูปพลังงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม
ถ้ารัฐบาลและ ปตท. ต้องการที่จะปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง ต้องโยนวาระซ่อนเร้นของตัวเองทิ้งไป แล้ววางผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง แทนที่จะยึดติดกับผลตอบแทนทางธุรกิจ หากสามารถปรับทัศนคติได้ จึงจะมีหวังว่าการปฏิรูปจะเดินหน้าได้
แต่หากพิจารณาจากพฤติกรรมการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ปตท. ดูเหมือนว่าไม่มีความตั้งใจที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน แต่ยังตั้งการ์ดสูง เพื่อปกป้องการใช้อำนาจรัฐที่ผิดพลาดและผลตอบแทนจากธุรกิจพลังงานผูกขาดเป็นหลัก ทำให้ประเด็นสำคัญอย่างเรื่องการคืนระบบท่อก๊าซ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือทวงถามมา 7 ปีแล้ว ว่าคืนไม่ครบ และความเห็นล่าสุดของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ตอกย้ำว่ามีการรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้สมบัติชาติถูกเอกชนฮุบไปจากพฤติกรรมสมคบคิดของรัฐ และปตท. ถูกมองข้าม ไม่มีการหยิบยกมาพูดถึงหรือให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ มีความจริงใจที่จะปฏิรูปพลังงานโดยไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มทุนจริง ต้องเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ตั้งแต่ต้น
อย่ารับข้อมูลแบบตัดตอนจากหน่วยงานรัฐกับ ปตท. ที่อ้างการลงนามรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินของ จรัญ หัตถกรรม ซึ่งเป็นตุลาการสูงสุดเพียงคนเดียว โดยไม่ดูที่มาของรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ไม่เป็นไปตามมติครม. 18 ธ.ค.50 เพราะหากคิดตามแนวทางที่ ปตท.วางไว้ ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมได้ แต่จะกลายเป็นการสานต่อความผิดพลาดที่ ปตท. ได้ประโยชน์แต่ประชาชนคือผู้รับเคราะห์
ที่สำคัญคือ ถ้าเราละเลยที่จะแก้ไขความผิดพลาดจากต้นทาง เราก็ไม่มีทางที่จะปัญหาที่เกิดระหว่างทางและปลายทางได้ ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปพลังงานไม่เป็นผล แต่ถ้าผู้มีอำนาจเห็นถึงต้นเหตุปัญหาแล้วกล้าที่จะแก้ไข ก็จะพบว่า การเริ่มต้นที่ระบบท่อก๊าซจะสามารถเปิดประตูไปสู่การสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานได้ เพราะการบริหารระบบท่อก๊าซนั้น มีผลต่อต้นทุนก๊าซและไฟฟ้า
คิดกันง่ายๆว่า หากระบบท่อก๊าซเป็นของรัฐ 100 % ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ตั้งแต่ก่อนการแปรรูป ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ รัฐจะมีรายได้จากการบริหารในส่วนนี้หลายแสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้อุดหนุนพลังงานทดแทน หรือ ก๊าซหุงต้ม เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกองทุนน้ำมัน หรือกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีการทุจริต และใช้เงินผิดประเภท
แต่ที่ผ่านมา เราปล่อยให้ ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการบริหารระบบท่อก๊าซ ในขณะที่รัฐได้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับรายได้ที่ ปตท.ได้รับ ซึ่งหากคิดเฉพาะแค่มูลค่าท่อที่ ปตท. คืนให้รัฐประมาณ 30 % ของมูลค่าท่อทั้งหมด แต่รายได้ที่เป็นผล
ตอบแทนกลับมายังรัฐกลับมิได้เป็นไปตามสัดส่วนดังกล่าว เพราะรัฐได้เงินค่าเช่าท่อประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยนับย้อนหลังจากปี 2544-2550 ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนทรัพย์สิน แต่เมื่อดูรายได้ทั้งหมดของ ปตท. จากการบริหารระบบท่อก๊าซในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าเป็นตัวเลขสูงถึง 123,000 ล้านบาท ซึ่งหากคิดจากสัดส่วน 30 % รัฐก็ควรได้เงินกลับมาไม่ต่ำกว่า 30,600 ล้านบาท แต่กลับได้คืนมาแค่ 1,500 ล้านบาท โดยส่วนต่างเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ที่หายไปเข้ากระเป๋า ปตท. ที่คืนกลับมายังรัฐเพียงแค่ 51 % อีก 49 % ตกเป็นของเอกชน
นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ไขความผิดพลาดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น หลังจากถูก ปตท.ผูกขาดธุรกิจพลังงานยาวนานมาถึง 13 ปี
อย่ารับฟังแต่ข้อมูลจาก ปตท. หน่วยงานรัฐ และรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาล เพราะคนเหล่านั้นคือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแปรสมบัติชาติไปเป็นของเอกชน และมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากโครงสร้างเดิมที่เปิดช่องให้ข้าราชการระดับสูงสวมหมวกเป็นผู้บริหารใน ปตท.และบริษัทลูกได้อย่างถูกกฎหมาย
คนที่ได้ประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจ และบริษัทลูกสูงกว่าเงินเดือนข้าราชการถึง 5 เท่า จะบริหารเพื่อประเทศที่จ่ายเงินราชการน้อยกว่าหรือจะทำเพื่อรัฐวิสาหกิจและบริษัทลูกที่สร้างรายได้ให้มากกว่า คิดแค่นี้ก็น่าจะได้คำตอบแล้ว ดังนั้น ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจจริง ต้องผ่าตัดโครงสร้างที่ให้ข้าราชการมีผลประโยชน์ทับซ้อนผ่านการบริหารรัฐวิสาหกิจ
กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัด อย่าให้มีบริษัทครึ่งบกครึ่งน้ำเช่นปตท. ที่เป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน มาเอาเปรียบประชาชนอีก แยกเสียให้ชัดเรื่องผูกขาดให้กลับมาเป็นของรัฐ ส่วนธุรกิจอื่นก็ไปเป็นเอกชน 100 % จะได้ไม่มาเป็นกาฝาก สืบสิทธิในฐานะรัฐวิสาหกิจแต่ฟันกำไรในฐานะเอกชนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้