ข่าวปนคน คนปนข่าว
ถือว่าไหวตัวทัน หากช้ากว่านี้สักหลายวัน สถานการณ์คงไม่เปิดให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเช่นนี้
ต่อสถานการณ์ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รีบชิงออกคำสั่งคสช. ฉบับที่ 121/2557 เป็นคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ที่ 117/2557 เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา
คำสั่งตั้งกรรมการคัดเลือกสปช. โดยมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 17 ก.ย. แต่เป็นคำสั่งที่พลเอกประยุทธ์ ลงนามโดยให้มีผลตั้งแต่ 17 ส.ค. เข้าใจว่า มีการให้เผยแพร่หลังมีการออกคำสั่งตั้งกรรมการสรรหา สปช. นานถึง 1 เดือน
สาระสำคัญของคำสั่งคสช. ฉบับดังกล่าว ก็คือการยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 14 คน โดยมีบิ๊กทหารอยู่ในกรรมการชุดนี้เกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช. แล้วส่งมาให้หัวหน้าคสช. นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ซึ่งกำหนดที่ คสช.บอกมาตลอดก็คือ จะมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในช่วงวันที่ 2 ต.ค.นี้
พอมีการเผยแพร่คำสั่งดังกล่าว พวกนักกฎหมายหลายสำนัก โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลคสช. เห็นว่า การตั้งกรรมการชุดดังกล่าวน่าจะสุ่มเสี่ยง มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 30 (6) ที่บัญญัติว่า ให้ คสช.คัดเลือกบุคคลที่เห็นสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช. จากบัญชีรายชื่อที่ส่งมาให้ ซึ่งหากอ่านแบบคำต่อคำในมาตราดังกล่าว จะเห็นได้เลยว่า รธน. มาตรา 30 ไม่ได้เปิดช่องให้ พลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจหัวหน้าคสช. ตั้งกรรมการคัดเลือก สปช.ได้เลย
ต้องเป็นคสช.เท่านั้น ก็คือ บอร์ดคสช. 15 คน ไม่ใช่ให้มีกรรมการคัดเลือกมาพิจารณารายชื่อที่กรรมการสรรหา 11 คณะกับกรรมการสรรหาระดับจังหวัดส่งชื่อมา
ไม่น่าเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ และบิ๊กคสช. รวมถึงแม้แต่ฝ่ายกฎหมายทั้งหลายที่อยู่รอบกายพลเอกประยุทธ์ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะพลาดได้ถึงเพียงนี้
ถึงได้บอกเมื่อตอนต้น ว่าการที่ พลเอกประยุทธ์ มีคำสั่งด่วนออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อยกเลิกคำสั่งตั้งกรรมการคัดเลือก สปช. ถือว่ารอดไปได้เฉียดฉิวชนิดน่าใจหายใจคว่ำมาก เพราะหากมีคนมาทักท้วงว่า การออกคำสั่งตั้งกรรมการคัดเลือก สปช. ว่าส่อขัดรัฐธรรมนูญ แล้วมายกเลิกคำสั่ง พลเอกประยุทธ์ และคสช. เสียฟอร์มเสียสภาพผู้นำมากกว่านี้แน่นอน
หรือถึงขั้นกรรมการคัดเลือกทั้ง 14 คน ไปลงมือประชุมพิจารณาคัดเลือกรายชื่อที่ส่งมาแล้ว เลือกให้เหลือไม่เกิน 250 คน แล้วส่งชื่อไปให้พลเอกประยุทธ์ นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้น แต่ในระหว่างการเตรียมนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หากมีคนมาทักท้วงทีหลังว่าที่ทำมาทั้งหมดผิดรัฐธรรมนูญ หากเรื่องไปถึงขั้นตอนนี้ แม้ต่อให้ คสช. หรือ พลเอกประยุทธ์ ชะลอเรื่องยับยั้งเอาไว้ก่อน มันก็สายเสียแล้ว
เข้าข่ายความผิดสำเร็จแล้ว มีสิทธิ์ถูกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหา สปช.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แน่นอน และมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นโมฆะ
ก็ดีแล้วที่ไหวตัวกันทันเสียก่อน ไม่อย่างนั้นมีสิทธิ์สะดุดขาตัวเองตกม้าตายแน่นอน
ตรงนี้เกิดข้อสงสัยกันไม่น้อยว่า ทำไม พลเอกประยุทธ์-คสช. หรือแม้แต่ฝ่ายกฎหมายคสช. ที่เป็นระดับมือกฎหมายคนสำคัญของประเทศ ถึงได้เกือบพลาดเอาง่ายๆ แบบนี้ ?
เพราะอย่าง วิษณุ เครืองาม ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาคสช.ด้านกฎหมาย และยังเป็นตัวหลักในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 หรือแม้แต่ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ทั้งสองคนมีส่วนสำคัญในการยกร่าง รธน.ฉบับชั่วคราว ทำไมไม่ตรวจดูให้ละเอียด เพราะตัว พลเอกไพบูลย์ เองก็พบว่ามีชื่อเป็น 1 ใน 14 กรรมการคัดเลือกด้วย
ข้อสงสัยนี้ มันก็น่าคิด ว่ามันเกิดความผิดพลาดขึ้นได้อย่างไร อย่างแรกต้องไปดูก่อนว่า รธน.ฉบับชั่วคราวประกาศวันไหน ก็พบว่าประกาศเมื่อ 22 ก.ค. 57 แล้วเมื่อไปดูคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 117/2557 ว่าออกมาวันไหน ก็พบว่า แม้คำสั่งนี้จะมีการเผยแพร่ เมื่อ 17 ก.ย. แต่เป็นคำสั่งที่ให้มีผลตั้งแต่ 17 ส.ค.
เรื่องที่ว่า คำสั่งให้มีผลตั้งแต่ 17 ส.ค. แต่ทำไมเพิ่งมายอมให้มีการเผยแพร่ 17 ก.ย. เป็นเรื่องที่ยากต่อการจะรู้ความจริงถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงเผยแพร่ช้านัก ซึ่งผิดกับคำสั่งยกเลิกการตั้งกรรมการคัดเลือก สปช. ที่พอมีการออกคำสั่ง 19 ก.ย. ก็เผยแพร่ภายในวันเดียวกันนั้นเลย
แต่สิ่งที่เห็นก็คือ พลเอกประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งตั้งกรรมการคัดเลือก สปช. หลังมีการประกาศใช้รธน.ฉบับชั่วคราว ที่ มาตรา 30(6) เขียนไว้ชัดว่าให้คสช. เลือกสปช. ไม่ใช่ให้มีกรรมการเลือก สปช.
แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า คนที่ชงเรื่องให้ตั้งกรรมการคัดเลือก สปช.เอง ก็เลินเล่อ ไม่ดูบทบัญญัติในรธน.ให้แน่ชัด ถึงได้ชงเรื่องให้พลเอกประยุทธ์เซ็น แม้จะเป็นการลงนามตั้งกรรมการกันในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนที่ พลเอกประยุทธ์ จะตั้งบอร์ดคสช. แบบเต็มอัตราไม่เกิน 15 คน ตามที่รธน.บัญญัติไว้ เมื่อ 11 ก.ย. แต่มามีการเปิดเผยคำสั่งตั้งบอร์ดคสช. เมื่อ 16 ก.ย. แต่ดูจากลำดับเวลาแล้ว มันก็เห็นชัดว่า คำสั่งตั้งกรรมการคัดเลือก สปช. เป็นการตั้งออกมาหลังรธน.มีผลบังคับใช้ และยังตั้งหลังมีการตั้งกรรมการสรรหาสปช. 11 คณะอีกด้วย
ไม่รู้ว่า หัวหน้าคสช. ทำไมพลาดในเรื่องง่ายๆ แบบนี้ จนเกือบตายน้ำตื้น ดีที่ไหวตัวทันเสียก่อน มายกเลิกได้ทันท่วงที เกือบพลาดทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย
ส่วนปมข้อสงสัยว่า ใครเป็นคนชงเรื่องนี้ให้ พลเอกประยุทธ์ แล้วทำไมฝ่ายกฎหมายคสช. ไม่ตรวจทานหรือทักท้วงกันก่อน คงเป็นเรื่องที่เวลานี้ พลเอกประยุทธ์ น่าจะเคลียร์ปัญหากันภายในเรียบร้อยแล้ว แต่ประชาชนวงนอก คสช.อย่างเราๆ ยากจะรู้ถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ได้ เพราะคนที่เกี่ยวข้องคงโดนสั่งปิดปากหมดแล้ว เพื่อให้เรื่องเงียบๆไป ไม่ให้มีการขยายผล
อย่างไรก็ตาม มีการเสนอข่าวของสื่อมวลชนถึงที่มาที่ไปการออกคำสั่งแบบกระทันหันของพลเอกประยุทธ์ เพื่อล้มกรรมการคัดเลือกสปช. โดยอ้างแหล่งข่าวในคสช.ว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนส.ค. แกนนำคสช. มีการหารือกันว่า การเลือกสปช. อยากให้ทำกันแบบละเอียดรอบคอบ เพราะรายชื่อที่ส่งมามีจำนวนมากกว่าจะเลือกให้เหลือ 250 คน จึงควรมีกรรมการมาช่วยคสช. กลั่นกรองรายชื่อ แล้วช่วงส.ค. บอร์ดคสช. มีกันแค่ 6 คน ไม่ได้มี 15 คนแบบตอนนี้ ก็เลยเสนอให้พลเอกประยุทธ์ ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกจำนวน 14 คนดังกล่าว จากนั้นก็ให้คสช.เข้าไปเลือกในตอนสุดท้าย
แต่พอมีการเผยแพร่คำสั่งดังกล่าวออกมา ฝ่ายกฎหมายคสช. ที่ก็ไม่รู้ว่าเพิ่งรู้ว่ามีคำสั่งฉบับนี้ หรือว่าเพิ่งนึกได้ เลยรีบทักท้วงว่าให้รีบยกเลิกด่วนเพราะอาจขัดรธน.ได้ ทำให้พลเอกประยุทธ์ รีบออกคำสั่งยกเลิกการตั้งกรรมการสรรหาสปช. ทันควัน
ไม่แปลกที่ ฝ่ายคสช. ต้องแจงเหตุผลทำนองนี้ เพื่อปกป้องพลเอกประยุทธ์ ยังไม่ได้ทำพลาด แค่เผลอไปเท่านั้น หากช้ากว่านี้ไม่เท่าไหร่ พลเอกประยุทธ์ และคสช. อาจจบเห่กันได้ง่ายๆ
จากนี้พลเอกประยุทธ์ ควรต้องระวังให้มากกว่านี้ ของแบบนี้ อย่าได้ประมาท มีสิทธิ์พลาดได้ง่ายๆ ยิ่งหากทำงาน เอาแต่เร็วแต่ไม่รอบคอบก็มีสิทธิ์พลาดเอาง่ายๆ ได้
บทเรียนความผิดพลาดการแต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีคนขาดคุณสมบัติการเป็น สนช.ร่วม 3 คนคือ พลโท ธวัชชัย สมุทรสาคร -พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย- อาศิส พิทักษ์คุมพล จนทั้งสามคนต้องลาออกจาก สนช. เพื่อจบปัญหาการตีความ
หากเป็นสถานการณ์ปกติ ป่านนี้ พลเอกประยุทธ์ โดนเรียกร้องให้รับผิดชอบทางการเมืองแล้ว หากยังเผลอแบบนี้บ่อยๆ ไม่ระวังให้ดี อาจตัองจรลีจากบัลลังก์อำนาจก่อนกาล