xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไทยดูงานประชามติสกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช ชี้ก้าวหน้า-สู้ด้วยเหตุผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.ลุยสกอตแลนด์ ดูลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช ตั้ง 4 ประเด็นแตกต่างเลือกตั้งไทย ชี้ทั้งฝ่ายค้าน-หนุนต่างสู้กันด้วยเหตุผล ไร้ความรุนแรง แถมวิธีการลงคะแนนก้าวหน้าหลายช่องทาง มอบอำนาจคนอื่นมาลงแทนได้ แต่เปรยบางอย่างนำมาใช้ในไทยไม่ได้

วันนี้ (18 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารเลือกตั้ง ซึ่งกำลังเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการเลือกตั้งของอังกฤษ และการลงประชามติของสกอตแลนด์ร่วมกับนายศุภชัย สมเจริญประธาน กกต. และนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม พร้อมคณะนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 5 ที่เมืองกลาสโกว์ และเมืองเอดินเบอระ แคว้นสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร

นายสมชัยได้ให้ความเห็นถึงการลงประชามติเพื่อแยกสกอตแลนด์เป็นเอกราช เมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา 4 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 แม้ว่าจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างสูง แต่บรรยากาศก็ยังเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ประชาชนทุกคนทั้งฝ่ายสนับสนุนการแยกสก็อตแลนด์และฝ่ายที่คัดค้านยังเป็นมิตรกัน ต่างต่อสู้กันด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีความรุนแรงปรากฏให้เห็น

ประเด็นที่ 2 กรรมการการเลือกตั้งมีการเตรียมการจัดการลงประชามติที่ดี ตั้งแต่การพิจารณาประเด็นถ้อยคำที่จะใช้ในการลงประชามติ การให้มีการลงทะเบียนผู้ประสงค์ลงมติ การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลทุกช่องทาง และการวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงคะแนนแทน ประเด็นที่ 3 ฝ่ายการเมือง หรือพรรคการเมืองทั้งฝ่ายที่สนับสนุน หรือไม่เห็นด้วย ต่างมีการรณรงค์ และให้ข้อมูลเชิงเหตุผลต่อประชาชน โดยใช้สื่อต่างๆ และกล้าที่จะออกมาชี้แจงต่อประชาชนด้วยการดีเบตผ่านสื่อ จนถึงวันสุดท้ายก่อนการลงประชามติ

ประเด็นที่ 4 ประชาชนและภาคสังคม มีส่วนสนับสนุนอย่างจริงจังในการรณรงค์และสร้างความเข้าใจต่อสังคม โดยมีองค์กรที่ขอจดทะเบียน เพื่อทำหน้าที่รณรงค์ถึง 42 องค์กร แบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน 21 องค์กร และฝ่ายคัดค้าน 21 องค์กรเท่ากัน และต่างทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในช่วงเวลาที่ผ่านมา

นายสมชัยยังระบุด้วยว่า วิธีการลงประชามติของสกอตแลนด์นั้นมีความก้าวหน้ากว่าประเทศไทยในหลายเรื่อง เช่น การลงทะเบียนผู้มีสิทธิ ซึ่งทำได้อย่างง่ายดาย เช่น การให้ลงคะแนนทางโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ทางไปรษณีย์ แต่บางเรื่องก็อาจไม่สามารถนำมาใช้ในไทยได้ เช่น การมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงคะแนนแทน ทั้งแบบปรกติในเวลาที่กำหนด (proxy vote) และแบบฉุกเฉินนอกเวลาที่กำหนด (emergency proxy vote)


กำลังโหลดความคิดเห็น