ข่าวปนคน คนปนข่าว
ปัญหาการออกอากาศของช่อง 3 ที่กลายเป็นเรื่องสั่นสะเทือนวงการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้นั้น เป็นหลักฐานฟ้องถึงความพิกลพิการและความผิดพลาดที่มีรากเหง้ามาจากความไม่โปร่งใส ไม่ใช่เป็นปัญหาแค่เรื่องข้อกฎหมายอย่างที่กำลังถกเถียงกันในขณะนี้เท่านั้น
เพราะกรณีของช่อง 3 นั้น ความจริงจะต้องหมดสัญญากับ อสมท.ไปตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.53 แต่ที่ยังลอยนวลดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงวันนี้ เพราะบอร์ด อสมท.ในขณะนั้นต่ออายุสัญญาให้อีก 10 ปี ทำให้ช่องสามมีสัญญาทำธุรกิจต่อไปอีกจนถึงปี 2563
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีความทับซ้อนระหว่างกติกาเดิมกับกติกาใหม่ที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2553 เพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นประเด็นใหญ่โตเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะเป็นปัญหาเดิมที่มีการต่อสู้กันอยู่ระหว่าง “ช่อง 3 กับ กสทช.” ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้วว่า ช่อง 3 ต้องปฏิบัติตามกติกาเหมือนผู้ประกอบการรายอื่น แต่ที่กลายมาเป็นปัญหา
เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 27 เข้าทางให้ช่อง 3 นำมาเป็นข้ออ้างในการดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามกติกาที่ กสทช.กำหนดพอดี ทั้งที่ความจริงแล้ว หาก ช่อง 3 จะไม่ทำตัวเป็น “ศรีธนญชัย” ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน จึงต้องแยกปัญหาออกเป็นสองส่วนซึ่งจะช่วยให้แก้ไขได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
ปัญหาของช่อง 3 กับ กสทช.
3 ก.พ.57 กสท.มีมติให้ฟรีทีวี 6 ช่องเดิม สิ้นสุดการเป็นโทรทัศน์ระดับชาติตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการทั่วไป หรือ Must Carry นับตั้งแต่วันเริ่มต้นแพร่ภาพดิจิตอลแล้ว 30 วัน คือวันที่ 25 พ.ค.2557
25 เม.ย.57 กสทช.ให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 24 ช่อง โดยต้องทำตามเงื่อนไขของกฎ Must Carry นำเฉพาะช่องรายการที่ได้รับใบอนุญาตในระบบดิจิตอลมาออกอากาศเท่านั้น ส่วนช่อง 3 นำช่องอนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจตอลไม่ได้ เพราะเป็นคนละคู่สัญญา
22 พ.ค.57 ช่อง 3 เรียกเอเยนซี่โฆษณาประชุมเพื่อรับทราบกติกาที่ กสทช.กำหนด พร้อมกับแจ้งการยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอความคุ้มครอง (แต่กรณีนี้ศาลปกครองไม่คุ้มครองชั่วคราว อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)
26 พ.ค.57 คือวันที่ กฎ Must Carry มีผลทำให้ช่อง 3 ออกอากาศได้เฉพาะระบบภาคพื้นดิน และเป็นช่องเดียวที่เจอปัญหา “จอดำ” ในช่องทรูวิชั่น ซีทีเอส และเคเบิลท้องถิ่นอีก 300-400 ราย
เหตุผลที่ช่อง 3 ไม่ยอมรับเงื่อนไข กสทช.จนทำให้ “จอดำ”
1.โฆษณาได้น้อยลงจากเดิม 12 นาทีต่อชั่วโมงเหลือ 6 นาทีต่อชั่วโมง
2.ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ กสทช. 2 % ของรายได้ และจ่ายเงินสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนาอีก 2 % นอกจากต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับ อสมท.
ปัญหาประกาศ คสช.ฉบับที่ 27/2557
หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ มีการเข้าควบคุมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงต้องออกประกาศควบคุมเพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยประเด็นที่ช่อง 3 หยิบยกมาอ้างคือ “ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบอนาล็อกออกอากาศได้ตามปกติ” ซึ่งความจริงก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าช่อง 3 ไม่ทำหัวหมอหยิบเอาประเด็นนี้มาเป็นข้อได้เปรียบแบบ “ศรีธนญชัย” ว่า คสช.ให้ออกอากาศได้จึงไม่ยอมปฏิบัติตามกฎ Must Carry ที่ห้ามไม่ให้ออกอากาศ
ทั้งที่ประกาศของ คสช.ไม่ได้เกี่ยวข้องทางเทคนิคใด ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระหว่างระบบอนาล็อกกับระบบดิจิตอลที่เป็นเรื่องของ กสทช. อีกทั้งประกาศของ คสช.ก็ออกมาภายหลังจากที่มีการกำหนดกติกา Must Carry ไปแล้ว การระบุให้ออกอากาศได้ตามปกติจึงต้องเป็นไปตามกฎกติกาที่กำหนดไว้
แต่ คสช.ก็ปัดความรับผิดชอบพ้นตัวแบบง่ายๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถมีส่วนที่จะลดปัญหาการตะแบงข้อกฎหมายของช่อง 3 ได้ง่ายๆด้วยการยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 27 เนื่องจากเนื้อหาในประกาศฉบับนี้ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว เพราะไม่ได้มีปัญหาเรื่องการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงเหมือนในช่วงต้นของการเข้าควบคุมอำนาจอีกแล้ว
การคงประกาศฉบับนี้ไว้นอกจากจะไม่มีประโยชน์อะไรแล้วยังถูกช่อง 3 นำไปบิดเบือนเพื่อใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจอีกด้วย ถ้า คสช.ยกเลิกประกาศฉบับนี้ช่อง 3 ก็จะหมดข้ออ้างและต้องกลับเข้าสู่กติกาเดิมที่กำหนดมาตั้งแต่ต้น
กรณีของช่อง 3 จึงเป็นประเด็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงการประกอบธุรกิจที่มุ่งแต่ผลกำไร หวังสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ไม่ปฏิบัติตามกติกา ใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาสร้างประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม ในขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงปัญหารอยต่อที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านการบริหารคลื่นความถี่สาธารณะจากเดิมเป็นของรัฐมาอยู่ในมือของ กสทช.ด้วยว่า องค์กรกิสระที่คนไทยคาดหวังให้เข้ามารักษาผลประโยชน์ชาติ สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนนั้น นอจากจะทำหน้าที่ของตัวเองไม่ดีพอแล้วยังกลายเป็นกลไกที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาให้กับประชาชนด้วย จากความไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงระบบอนาล็อกเข้าสู่ระบบดิจิตอล จนทำให้เกิดความยุ่งเหยิงสับสนไปหมด
เหล่านี้เป็นบทเรียนที่สภาปฏิรูปฯควรจะนำไปประมวลไว้เป็นข้อมูลที่จะปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นการทำรัฐประหารครั้งนี้ก็จะมีผลแค่การเปลี่ยนมือผู้ถืออำนาจแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นได้