สะเก็ดไฟ
เริ่มเห็นเค้าลางกันแล้วว่า “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะมีทิศทางบริหารประเทศอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่จัดทำเป็นพิมพ์เขียว แบ่งภารกิจหลักเอาไว้ 11 ด้าน คือ “ธงนำ” ที่ “บิ๊กตู่” จะต้องนำพาประเทศเดินไปให้ถึง
เพราะนี่คือบทพิสูจน์ว่า “ทหาร” จะเข้ามาบริหารประเทศแล้วจะดีกว่า “นักการเมือง” หรือไม่
แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านโยบายในภาพใหญ่คือ “คนคุมนโยบาย” ที่ “บิ๊กตู่” ต้องมอบหมายงานให้กับบรรดารองนายกฯที่คิดว่าคัดสรรมาเป็นอย่างดี และจะมอบหมายงานให้เหมาะกับ “คน”
โดยล่าสุดมีข่าวออกมาว่า “บิ๊กตู่” จะขอควบคุมดูแล “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” (สตช.) ด้วยตัวเอง เพราะ สตช. ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา “นักการเมือง” มักใช้ สตช. เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลของตัวเองในพื้นที่ฐานเสียง
หาก “ตำรวจ” คนไหนจะวิ่งเต้นมักจะวิ่งผ่าน “นักการเมือง” ที่รอตบทรัพย์เข้ากระเป๋ากันเป็นว่าเล่น นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ “บิ๊กตู่” ต้องแก้ไข หากจะต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง
ส่วนบรรดา “รองนายกฯ” ทั้ง 5 คน แน่นอนว่า “นายกฯตู่” จะมอบหมายให้ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลงานด้านความมั่นคง โดยมีกระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) รวมอยู่ด้วย
ซึ่งวัดกันตามบารมีของรองนายกฯทั้งหมด ไม่มีใครปฏิเสธว่า “บิ๊กป้อม” คือคนที่มีบารมีเยอะที่สุด ให้คุมงานด้านความมั่นคงไม่มีปัญหาแน่
แต่ให้ระวังรอยร้าวเล็กๆที่ “บิ๊กป้อม” ไม่พอใจ “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่พยายามดิ้นเฮือกสุดท้ายเพื่อแย่งชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ. จากอ้อมกอดของ “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยการวิ่งเข้าหา “ป๋าเปรม”
จนทำให้ “บิ๊กป้อม” ถึงกับควันออกหู หารือกับ “บิ๊กตู่” นำมาสู่การเด้ง “พล.อ.ไพบูลย์” ออกจากวงโคจร ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ้นจากการคุมกำลังหลักใน “กองทัพบก”
ลดแรงระแวงแรงเสียดทานจาก “กองทัพบก” ไปได้ว่า เพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมาหลายคนกลัวว่าจะมีการ “ปฏิวัติซ้อน”
ทว่า “บิ๊กป้อม” ก็อย่าลืมว่า “ทหารลูกป๋า” หลายคนยังแคลงใจอยู่ว่าทำไม “บิ๊กป้อม” ข้ามหน้าข้ามตา “ป๋าเปรม” ไปหลายช็อต
นี่อาจจะเป็นคลื่นใต้น้ำที่คอยกระเซาะความมั่นคงของ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ไม่น้อย
ส่วนด้านเศรษฐกิจ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” รองนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่คอยกำกับดูแลชนิดนอนมาจากบ้าน ซึ่งเป็นหมากที่ “หม่อมอุ๋ย” วางมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่รับตำแหน่ง “รมว.คลัง” แต่จะคอยบัญชาการอยู่เบื้องหลังให้
สาเหตุหนึ่งที่ “หม่อมอุ๋ย” ไม่ลงมารับผิดชอบเองโดยตรง เพราะไม่อยากเสียคนตอนแก่แล้ว สู้นั่งตำแหน่งรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ควบคุมทุกกระทรวง สั่งงานให้ “หุ่นเชิด” ทำ ดูจะมีภาษีดีกว่า
หลายคนยังแปลกใจไม่หายว่าเหตุใด “ครม.ประยุทธ์ 1” ไม่มีตำแหน่ง “รมช.คลัง” ทั้งที่เป็นกระทรวงเกรดเอ ซึ่งที่ผ่านมามักจะมี “รมช.คลัง” ถึง 2 คน เกือบทุกรัฐบาล
นั่นเพราะ “หม่อมอุ๋ย” บอกกับ “บิ๊กตู่” แล้วว่าจะเข้ามาช่วยงาน “สมหมาย ภาษี” รมว.คลัง อย่างเต็มที่ ดังนั้น ฟันธงได้เลยว่า แม้ตามตำแหน่งแล้ว “สมหมาย” คือเบอร์หนึ่งคลัง แต่แท้ที่จริงแล้ว “หม่อมอุ๋ย” ต่างหากที่ยึดเบอร์หนึ่งคลัง
บทบาทของ “สมหมาย” ก็ไม่ต่างกับรัฐมนตรีช่วยเท่านั้นเอง
แต่สิ่งที่จะวัดใจ “หม่อมอุ๋ย” คือนโยบายทางภาษีที่หลายฝ่ายเริ่มกดดันไปยัง “รัฐบาล” ให้จัดเก็บภาษีจาก “คนรวย” อาทิ ภาษีที่ดิน เป็นต้น
ฟันธงได้เลยว่า “หม่อมอุ๋ย” จะเข้ามาควบคุมกระทรวงเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จคนเดียว แต่ “หัวใจ” ของ “หม่อมอุ๋ย” จะกล้าลุย - กล้าเสี่ยง มากแค่ไหนต้องตามดูกันยาวๆ
นอกจากนี้ งานด้านการต่างประเทศ “บิ๊กตู่” มอบหมายให้ “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นคนดูแล ท่าทีของ “บิ๊กเจี๊ยบ” ที่นุ่มนวลกับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด ส่งผลดีต่อการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวตะเข็บชายแดน
โดยเฉพาะ “พม่า” ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีมายิ่งขึ้นไปอีก เพราะ “บิ๊กเจี๊ยบ” สนิทกันดีกับ “พล.อ.มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ซึ่งขณะนี้ไทยพยายามผลักดันชนกลุ่มน้อยพม่าให้กลับไปยังพม่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ
แต่โจทย์ใหญ่ของ “บิ๊กเจี๊ยบ” คือจะทำอย่างไรให้ “โลกตะวันตก” เข้าใจการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และทำอย่างไรให้นานาชาติยอมรับ “รัฐบาล” ชุดนี้
ส่วนงานด้านกฎหมาย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่เนติบริกรต่อ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายที่จะเข้าสู่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) แต่ละฉบับ “รัฐบาล” ต้องทำหน้าที่กลั่นกรองอย่างดี
อย่าลืมว่า “องค์กร” หลายแห่งมักจะใช้ช่วงที่นี้ ถือโอกาสที่จะเสนอกฎหมายมากมาย แถมกฎหมายบางตัวแอบแฝงด้วยผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ได้มุ่งหวังทำเพื่อส่วนร่วม
บทเรียนที่เห็นกันชัดเจนที่สุดหนีไม่พ้น “พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานศาลปกครอง” ที่มีการชิงเสนอต่อ คสช. ให้พิจารณาแบบลักไก่ ไมได้ความเห็นจาก “ตุลาการศาลปกครอง” จนนำมาสู่การคัดค้านบานปลาย จนสังคมเริ่มตั้งคำถามกับ “ศาลปกครอง” ซึ่งถือเป็นสถาบันที่น่าจะโปร่งใสมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่รอให้ “วิษณุ” ไตร่ตรองและตรวจทานอีก เพราะ “รัฐธรรมนูญ” ที่จะร่างขึ้นคือเงื่อนตายสำคัญที่จะใช้เป็นเครื่องมือบล็อก “ขั้วตรงข้าม” ไม่ให้กลับมาทำร้ายประเทศได้อีก
โดย “วิษณุ” มีโจทย์ตามที่ “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” 10 ข้อระบุไว้ ว่าต้องดำเนินการอย่างไร อาทิ ต้องเขียนให้ครอบคลุมว่าไม่สามารถดำเนินนโยบายประชานิยมได้ เป็นต้น
งานของ “วิษณุ” จึงท้าทายและหนักหนามากที่สุด
ขณะที่งานด้านการศึกษามอบหมายให้ “ยงยุทธ ยุทธวงศ์” รองนายกรัฐมนตรี เข้าไปดำเนินการ โดย “บิ๊กตู่” มุ่งหวังให้การศึกษาของไทยพัฒนาให้เทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเร็วที่สุด
แต่ในภาพรวมแล้วงานของ “ยงยุทธ” ไม่ถือว่าหนักหนาสาหัสเท่าไร เพราะได้มือดีหลายคนมาช่วยงาน เพียงแต่ต้องประคองตัวเองให้รอด ไม่กลับมาทิ่มแทง “รัฐบาล” เสียเอง
หลังจากนี้ต้องจับตาตำแหน่งที่ปรึกษา - เลขานุการ ที่บรรดารัฐมนตรีจะแต่งตั้งขึ้นมาช่วยงานอีกคำรบหนึ่ง ว่าจะมีดีกรี ความสามารถ มากพอที่จะเข้ามาช่วยสานงานที่มีเวลาจำกัดแค่ 1 ปี ให้ลุล่วงได้เพียงใด
ทั้งหมดคือการแบ่งงาน “รองนายกฯ” ที่ “บิ๊กตู่” มุ่งหวังว่าจะใช้คนให้เหมาะสมกับงาน ซึ่งต้องวัดกันยาวๆ ว่าจะสามารถประคองสถานการณ์ให้อยู่รอดมั่นคงได้นานแค่ไหน