xs
xsm
sm
md
lg

ยันไทย-พม่าแก้ยาเสพติด 33 หมู่บ้านชายแดนคืบ ป.ป.ส.เล็งขยายตลอดแนว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” พร้อมเลขา ป.ป.ส.และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการแก้ปัญหายาเสพติดร่วมไทย-พม่า 33 หมู่บ้าน ยันทำงานมา 1 ปี 9 เดือน ได้ผล มีชนกลุ่มน้อยพม่าในพื้นที่เสี่ยงเข้าร่วมแล้วกว่า 1 หมื่นคน เล็งขยายตลอดแนวชายแดน

วันนี้ (11 ต.ค.) นายเพิ่มพงษ์ ชวลิตร เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมคณะได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-พม่า ซึ่งไทยร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้การสนับสนุนพม่า ดำเนินการใน 33 หมู่บ้านของ จ.ท่าขี้เหล็ก จ.เมืองสาด เขตรัฐฉาน ตรงกันข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ พ.ต.อ.ซอ ลิน ตุน เจ้าหน้าที่ระดับสูง ป.ป.ส.พม่า ในฐานะกรรมการโครงการฯ ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย

ซึ่งพบว่า ชุมชนต่างๆ ในโครงการที่เป็นชนกลุ่มน้อย ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างโรงพยาบาล สถานีอนามัยประจำชุมชน ระบบส่งน้ำประปาเพื่อใช้สำหรับการบริโภคอุปโภค และเพื่อการเกษตร การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผสมผสานและการส่งเสริมด้านการศึกษา ฯลฯ ล่าสุด ทางโครงการยังอยู่ระหว่างการนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทางการศึกษา ไปมอบให้แก่โรงเรียน และหมู่บ้านต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย

นายเพิ่มพงษ์ กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายให้ไทย และพม่า ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ซึ่งเป็นชายแดนระหว่างกัน ตนเชื่อว่าจะได้ผลเป็นอย่างดี เพราะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะมาจากความยากจน ความเป็นอยู่ อาชีพ รายได้ ฯลฯ หากแก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้ได้แล้ว ก็จะทำให้ยาเสพติดลดลง และยังจะทำให้พื้นชายแดนมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางพม่าก็เห็นพ้องที่จะให้ทางการไทยเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งอยู่ตามตะเข็บชายแดนร่วมกัน ทาง ป.ป.ส.จึงมีแผนการในการขยายพื้นที่โครงการไปยังพื้นที่เสี่ยงตลอดแนวชายแดนด้านอื่นอีกด้วย

ด้าน ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ในปี 2545-2547 ไทย และพม่าเคยทำโครงการลักษณะเดียวกันนี้ที่บ้านเหย่าข่า ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ประสบความสำเร็จด้วยดี กระทั่งเดือน ก.ย.2555 ทั้ง 2 ฝ่ายจึงได้ลงนามความร่วมมือกันอีกครั้ง โดยให้ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และกรมความก้าวหน้าชายแดนและชาติพันธุ์พม่า เป็นผู้ดำเนินการด้วยงบประมาณ 350 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2556-2561 ครอบคลุมพื้นที่ 61,200 เอคอร์ หรือประมาณ 153,000 ไร่ ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 2,466 ครัวเรือน ประชากร 13,150 คน

ทางโครงการฯ จะพัฒนาทั้งการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาโรคที่สำคัญอย่างมาลาเรีย วัณโรค การออกหน่วยเคลื่อนที่ อบรมอาสาสมัคร การสร้างโรงพยาบาล สร้างห้องส้วม จัดหาแพทย์ การจัดสร้างระบบน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร เช่น การสร้างฝาย หรืออ่างเก็บน้ำ ส่งเสริมด้านเมล็ดพันธุ์ กล้าไม้ผล ไม้ป่าเศรษฐกิจ กองทุนสัตว์ การอบรมให้ความรู้ ฯลฯ

“หลังดำเนินการมาได้แล้ว 1 ปี 9 เดือน ก็ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นอย่างดี และโครงการก็คืบหน้าไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้แล้ว” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น