เชียงราย - กางแผนผังชี้เป้าโรงงานยานรกตั้งแต่รัฐฉานตอนเหนือ-ใต้ ติดชายแดนไทย เผยผลิตใหญ่ก่อนส่งเข้าโรงอัดเม็ด-ตีตราในเขตอิทธิพลชนกลุ่มน้อยพม่า ลุ้น “ประยุทธ์” เยือนเนปิดอ ทำแผนแก้ปัญหายาเสพติดไทย-พม่าชัดขึ้น
นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยระหว่างปฏิบัติราชการที่เชียงรายสุดสัปดาห์นี้ว่า ปัญหาการลักลอบขนยาเสพติดเข้าชายแดนภาคเหนือของไทย ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ระยะ 2-3 เดือนมา พม่าได้เข้ากดดันจับกุม ยึดยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าทางการพม่ายังคงมุ่งจัดระเบียบชายแดน เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย ดังนั้น ป.ป.ส.จะพยายามหารือกับพม่าเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
ในส่วนของรัฐบาลไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดการเยือนพม่าวันที่ 9-10 ตุลาคมนี้ จะทำให้ความร่วมมือแก้ปัญหายาเสพติดปี 2557-2558 มีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ การลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดนยังคงพบว่าอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 70% และ จ.เชียงราย ยังคงถูกเฝ้าจับตามองว่าเป็นแหล่งพยายามนำเข้าอันดับ 1 แต่เมื่อนำของกลางที่ยึดได้มาตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ พบว่า แม้ยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้า จะมีหลากหลายบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแต่ละห่อมีการระบุสัญลักษณ์ หรือตราไม่เหมือนกัน แต่สารเคมีต่างๆ บ่งชี้ว่า มาจากแหล่งผลิตเดียวกัน ที่มีอยู่เพียง 2-3 แห่งทางตอนเหนือของเขตรัฐฉาน ติดกับชายแดนด้านประเทศจีนทั้งสิ้น
“คุณสมบัติทางเคมีบ่งชี้ว่า ยาบ้าแทบทั้งหมดมาจากจุดเดียวกัน เพียงแต่นำมาอัดเม็ด หรือขนลงมาอัดเม็ดในพื้นที่อื่น ซึ่งมีอยู่กระจายกันไปประมาณ 10 กว่าแห่ง เราจึงเห็นว่าห่อยาบ้ามีตราประทับหลากหลาย แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นของคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้จะได้มีการหารือกันในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป”
นายเพิ่มพงษ์ กล่าวว่า กรณีของสารตั้งต้นเพื่อการผลิตยาเสพติด ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าทางชายแดนไทย-พม่า เช่น ซูโดอีเฟรดีน ยาแก้หวัด ปัจจุบนพบว่ามีการลักลอบนำเข้าจากชายแดนด้านประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่การยับยั้งเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นยาที่ไม่ผิดกฎหมายในประเทศอินเดีย
รายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงด้าน จ.เชียงราย ระบุว่า แหล่งผลิตยาเสพติดส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ประกอบด้วย รัฐฉานตอนเหนือ รัฐฉานตะวันตก และรัฐฉานใต้ ตั้งแต่ชายแดนพม่า-จีน จดชายแดนไทยด้านเชียงราย-เชียงใหม่ รวมไม่น้อยกว่า 11 แห่ง
โดยกระจายอยู่ทั่วตั้งแต่รัฐฉานเหนือ เลียบแม่น้ำโขงชายแดนพม่า-สปป.ลาว จนถึงชายแดนจีน 6 แห่ง รัฐฉานตะวันตก ตรงกันข้าม จ.เชียงราย 2 แห่ง และรัฐฉานใต้ ตรงข้าม จ.เชียงใหม่ เชื่อมกับเชียงรายอีก 3 แห่ง ส่วนตามตะเข็บชายแดนมีแหล่งพักที่อยู่ในฝั่งพม่า 14 แห่ง สปป.ลาว 7 แห่ง และในฝั่งไทยด้าน จ.เชียงราย 12 แห่ง โดยมียาเสพติดทั้งเฮโรอีน ยาบ้า ไอซ์ ซึ่งแหล่งพักเหล่านี้มีไว้รองรับสารตั้งต้น เช่น ซูโดอีเฟรดีน ที่จะมีการลักลอบไปจากฝั่งไทยด้วย
รายงานยังระบุด้วยว่า สำหรับผู้ผลิตยาเสพติดที่ล้วนชนกลุ่มน้อยในพม่าไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มว้าแดงเท่านั้น ยังมีกลุ่มมูเซอ ไทใหญ่ โกกั้ง ม้ง อาข่า ที่ต่างมีฐานที่มั่นทางทหาร กองกำลังติดอาวุธโยงใยเป็นเครือข่ายทั้งในฝั่งพม่า และชายแดนติดกับไทย
กลุ่มหลักที่คุ้นชื่อกันดี คือ “เหว่ย เซียะ กัง” ที่มีอิทธิพลในเขตของว้าแดง ตั้งแต่รัฐฉานตอนเหนือ จากใต้เมืองปางซางชายแดนจีน-พม่า ถึงเมืองยอนตรงข้าม อ.แม่จัน จ.เชียงราย และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
ซึ่งช่วงหลัง เหว่ย เซียะ กัง มีอายุมากขึ้น และผันตัวไปเป็นผู้ผลิตเป็นหลัก จึงเกิดกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่อื่นขึ้นในรัฐฉานแทนมากมาย เช่น นายอาแม (อาข่า) นายจินนี่ นายจะงอย (ร.ท.จะงอย) พ.ท.ยี่เซ เป็นต้น
โดย นายจะงอย พ.ท.ยี่เซ เป็นกลุ่มมูเซอที่มีฐานที่มั่นตั้งอยู่ติดชายแดนไทย ตั้งแต่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ถึง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ รู้จักกันดีในนามเครือข่ายบ้านปูนาโก่ และดอยสามสูง ที่ผ่านมา มียาเสพติดทะลักจากแหล่งนี้เป็นจำนวนมาก มีการนำเข้าหลายจุด คือ ช่องทางบ้านผาขาว ตรงข้ามบ้านป่าซางนางเงิน ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จนถึงแนวชายแดนจนจดแม่น้ำโขง