xs
xsm
sm
md
lg

ข้อบังคับประชุม สนช.ถอดถอนนักการเมืองชี้ชะตา ปู-นิคม-สมศักดิ์ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

เก็บอาการไม่อยู่ต้องออกมาดักคออ้างเหตุผลเรื่อง “ความปรองดอง” นำหน้าขึ้นมาก่อนสำหรับ นิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 291 เป็นมูลเหตุให้ต้องถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. โดยล่าสุดเขาคัดค้านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากจะออกข้อบังคับที่ประชุม สนช. เกี่ยวกับการถอดถอนในหมวดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2557 ไม่ได้กำหนดเอาไว้

ก่อนหน้านี้ นอกจาก นิคม แล้ว ยังมี สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และมีอดีต ส.ส. และ ส.ว. อีกกว่า 300 คนที่กระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน และกำลังเข้าสู่กระบวนถอดถอนของวุฒิสภา รวมไปถึงกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติถอดถอนพ้นจากตำแหน่งด้วย จากกรณีความผิดโครงการรับจำนำข้าว แต่เกิดการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมาเสียก่อน และมีการยุบวุฒิสภา ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี เมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557( ฉบับชั่วคราว) มี สนช. ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. และกำลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมขึ้นมาซึ่งกรรมาธิการได้ยกร่างเสร็จแล้วมีกำหนดเข้าพิจารณาในวาระแรกวันที่ 11 กันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาในการพิจารณาทั้งหมดไม่เกิน 10 วัน

ที่น่าสนใจก็คือ มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลายคนได้ออกมาสนับสนุนให้มีการแปรญัตติในหมวดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. เนื่องจากเห็นว่า สนช. ทำหน้าที่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ในคราวเดียวกัน และในเรื่องการถอดถอนการอนุมัติแต่งตั้งเมื่อมาสิ้นสุดที่ สนช. กระบวนการที่เคยดำเนินการในวุฒิสภาก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน โดยการออกเป็นข้อบังคับการประชุมขึ้นมา หรือมี สนช. แปรญัตติขึ้นมาให้ครอบคลุมในหมวดดังกล่าว

น่าหวาดเสียวก็คือ หากข้อบังคับการประชุม สนช. ออกมาบังคับใช้ ก็มีผลต่ออนาคตทางการเมืองของคนพวกนี้แบบซ้ำเติมลงไปอีก โดยพิจารณากันทีละเรื่อง เรื่องแรกเอาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับข้อบังคับการประชุม สนช. ให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แม้ว่าในความเป็นจริงมันไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ ในยุคที่สภามีเสียงเป็น “เอกภาพ” และไม่ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 เหมือนในวุฒิสภาในอดีต ดังนั้น เมื่อเป็นแบบนี้มันก็เสี่ยงสูง

เรื่องที่สองก็ถือว่าเป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากเรื่องแรกๆ นั่นคือจากมติ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด คนพวกนี้ทั้งหมด รวมไปถึงคำสั่งศาล ย่อมมีผลไปถึงอนาคตทางการเมืองแบบที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 มาตรา 8 (4) ที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามว่า “เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง” ซึ่งในประเด็นนี้อาจยังไม่กระทบโดยตรง

แต่ในมาตราต่อมาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเอาไว้ในมาตรา 35 ที่เรียกว่า “บัญญัติ 10 ประการ” เพราะมีอยู่ใน 10 อนุมาตรา

โดยเฉพาะในมาตรา 35 (4) ที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2558 เอาไว้ดังนี้

“กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด”

เมื่อเขียนล็อกเอาไว้ชัดเจนแบบนี้ จึงมองไม่เห็นทางว่าจะบิดไปทางไหนได้ ซึ่งที่ผ่านมา บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ผู้สมัครสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านกฎหมายตัวเต็งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยชี้ให้ดูมาตราดังกล่าวมาแล้ว ความหมายก็คือในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะต้องมีบทบัญญัติคุณสมบัติต้องห้ามแบบนี้แน่นอน

ถามว่ามติชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. คำพิพากษาของศาล หรือหากรวมถึงมติถอดถอนของ สนช. เป็นคำพิพากษาและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่คนพวกนี้จะอกสั่นขวัญเสีย โวยวายออกมาก่อน เพราะมันหมายถึงอนาคตของพวกเขา เป็นการตัดหนทางเข้าสู่อำนาจการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งนี่คือ “โรดแมป” ที่วางไว้ล่วงหน้า เว้นแต่มีการแก้ไขโดย “ผู้มีอำนาจกว่า” โดยอ้าง “ปรองดองนำหน้า” อย่างนั้นถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่คาดเดายากเช่นเดียวกัน !!
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
นิคม ไวรัชพานิช
กำลังโหลดความคิดเห็น