“สุริยะใส” ห่วง สปช.เป็น ขรก.มากเกินไป แนะเอาผู้ที่ไม่ได้รับเลือกจาก 7 พันคนไปเป็นอนุกรรมการฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูป ขณะเดียวกันควรสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ดูภาพรวมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มียอดรวมกว่า 7,000 คนทั้งประเทศ ถือว่าเป็นการนับหนึ่งปฏิรูปที่ได้รับความสนใจมากทีเดียว แม้จะหงอยเหงาในช่วงแรกๆ แต่ภาพรวมของบันไดขั้นที่ 1 ถือว่าสอบผ่าน เพราะรายชื่อผู้สมัครมีความหลากหลาย และในแต่ละกลุ่มเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถของประเทศ มาเสนอตัวกันอย่างคึกคัก ทำให้มีโอกาสได้ สปช.ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนคุณภาพมากขึ้น
ที่ตัองจับตาคือ บันไดขั้นที่ 2 หรือการคัดจาก 7,000 คน ให้เหลือ 250 คนนั้นจะตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมได้หรือไม่ จะสะทัอนตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายในสังคมหรือกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทหาร ข้าราชการประจำมากเกินไปหรือไม่ ในขณะนี้มีความกังวลว่าตัวแทนจากสายภาคประชาสังคมและนักวิชาการอาจเข้าไปน้อยเกิน
ส่วนบันไดขั้นที่ 3 ต้องดูกระบวนการทำงานของ สปช.ว่าจะสร้างการมีส่วนร่วมได้กว้างขวางแค่ไหน สปช.ต้องสร้างและออกแบบกระบวนการที่เปิดกว้างเป็นรูปธรรม ทั้งแนวดิ่งและแนวราบ ไม่ใช่ผูกขาดโดยคน 250 คน หรือไม่ควรตั้งกรอบว่าใครเห็นแย้ง เห็นต่างให้ไปเสนอใน สปช.เท่านั้น เพราะวิธีคิดแบบนี้ปิดกั้นความเห็นของประชาชนมากเกินไป
“ผมเสนอให้ สปช.เอาคนที่ไม่ได้รับเลือกจาก 7,000 คนไปอยู่ในอนุกรรมการต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูป เช่น รับฟังความเห็น รณรงค์เผยแพร่ ฯล เพราะอย่างไรก็ถือว่าคนเหล่านี้เสนอตัวมาทำงานปฏิรูปแล้ว เพื่อให้บันไดขั้นที่ 4 หรือการจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย มีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือและมีพลังจนกลายเป็นวาระแห่งชาติ ให้มีผลในทางปฏิบัติ เช่น ปรากฏในรัฐธรรมนูญ หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปด้วย”