xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เพิ่มพลัง"โหวตโน" ผู้สมัครในเขตเปลี่ยนใหม่หมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงผลการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดรัฐสภา ส่วนที่ว่าด้วยที่มา คุณสมบัติของส.ส.ว่า กรธ. ยืนยันหลักการระบบเลือกตั้งแบบ MMPที่ใช้บัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ คำนวณทั้งส.ส.แบ่งเขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยสภาผู้แทน ประกอบด้วย ส.ส.ทั้งสองระบบ จำนวน 350 / 150 รวม เป็น 500 คน มีวาระ 4 ปี โดยภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อประกาศรับรองผลส.ส.จนได้ 95 % (475 คน) แล้ว สามารถเปิดการประชุมรัฐสภาได้ ส่วนที่เหลือ หากมีการประกาศผลภายหลัง ก็ให้นำผลคะแนนมาคำนวณใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนให้สัดส่วนส.ส.ทั้งสองส่วนตรงกับความเป็นจริง
ในกรณีที่มีการทุจริตในเขตเลือกตั้งใด และมีผลวินิจฉัยของศาลภายใน 1 ปี หลังการเลือกตั้งว่า มีความผิด ก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น แล้วนำคะแนนการเลือกตั้งมาคำนวณใหม่ หากพรรคใดได้จำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อลดลง ก็ให้เอารายชื่อส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับท้าย แต่หากผลวินิจฉัยออกมาเกิน 1 ปี ให้เปลี่ยนแปลงเฉพาะ ส.ส. เขต โดยไม่ต้องนำคะแนนรอบใหม่ไปคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก ส่วนกรณี ส.ส.เขตพ้นไปอันเนื่องจากเหตุอื่น เช่น ตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ลงสมัคร ก็ให้เลือกตั้งซ่อมเฉพาะส.ส.เขต โดยไม่ต้องเอาคะแนนไปคำนวณใหม่
" ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งที่เขต จะต้องมีคะแนนมากกว่าคะแนน "โหวตโน" หากเขตใดที่ไม่มีผู้สมัครที่มีคะแนนมากกว่าโหวตโน ก็ต้องให้เปิดรับสมัครเลือกตั้งกันใหม่ โดยผู้สมัครรายเดิมทั้งหมด หมดสิทธิ์ลงสมัครในรอบนั้น"
ส่วนวิธีนับคะแนน ให้นับที่หน่วยเลือกตั้ง และไปรวมผลประกาศที่เขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตให้คำนวณตามสัดส่วนประชากร
ทั้งนี้ กรธ.กำหนดให้พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อผู้ที่จะให้เป็นนายกฯได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยไม่เสนอก็ได้ แต่ต้องแจ้งกับ กกต.ก่อนวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบ โดยต้องมีหนังสือยินยอมจากบุคคลผู้ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามของรัฐมนตรี และต้องไม่เป็นรายชื่อที่ซ้ำกับพรรคอื่น หากซ้ำให้ถือเสมือนว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีการเสนอชื่อ
พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ โดยรายชื่อผู้สมัครทั้งสองระบบ ต้องไม่ซ้ำกัน และการกำหนดบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองใด จะต้องให้สมาชิกพรรคนั้นมีส่วนร่วม คำนึงถึงการกระจายภูมิภาค และความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย แต่ไม่ใช่ว่าต้องเท่ากัน
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงสมัครส.ส. จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ต้องเป็นสมาชิกพรรค โดยกรธ.เพิ่มข้อห้ามที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญเดิม คือ ผู้ที่เคยต้องโทษให้จำคุก จะต้องพ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงจะลงสมัครได้ จากเดิมที่กำหนดเพียง 5 ปี และเพิ่มลักษณะต้องห้ามของผู้เป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เช่น การรุกป่าไม้ รุกเขตอุทยาน การพนัน การซื้อขายยาเสพติด ฯลฯ ให้เป็นข้อห้ามของ ส.ส. ด้วย โดย กรธ. มองว่า แม้แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังมีข้อห้าม ผู้มาเป็นผู้แทนในระดับชาติ จึงไม่ควรจะมีมาตรฐานที่ต่ำกว่า
สำหรับอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ให้ผู้ที่อายุครบ 18 ปี ในวันเลือกตั้งเป็นผู้มีสิทธิ์ จากเดิมที่ต้องครบ 18 ปี ก่อนวันที่ 1 ม.ค. ของปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อาจเพิ่มจำนวนอีก 1 แสนคน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า กรณีร่างรธน. ห้ามบุตร บุพการี คู่สมรส ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการการเมือง ลงสมัครเป็น ส.ว.นั้น จะบังคับใช้กับกรณีเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย เนื่องจาก ส.ว. ก็เป็นหนึ่งในตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น บุตร บุพการี คู่สมรส ของ ส.ว. ก็ไม่สามารถลงเลือกตั้งส.ส.ได้ ยกเว้นพ้นจากจากตำแหน่งส.ว.ไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น