อดีต ส.ส. ปชป. แนะ คสช. ขายยางในสต๊อก 2.1 แสนตัน ช่วงที่ยางพาราผลัดใบ แทนที่จะขายตอนนี้ หวั่นกระทบต่อราคายางมากยิ่งขึ้น พร้อมชดเชยให้กับเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ชี้ราคาเหมาะสม 64 บาท แนะควรดำเนินการยุทธศาสตร์ ผู้นำเรื่องยางของอาเซียน ลดอุปสงค์กับประเทศที่ปลูกยางอย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (27 ส.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่า ตนคิดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรจะรับฟังการแก้ไขราคายางตามข้อเสนอของสถาบันเครือข่ายเกษตรกร โดยเฉพาะการจะขายยางในสต๊อก 2.1 แสนตัน หาก คสช. จะดำเนินการขายออกไปก็ควรทำในช่วงปิดกรีด คือ ช่วงที่ยางพาราผลัดใบ เพราะในช่วงนั้นไม่มียางออกสู่ตลาด แต่ถ้าหากขายในช่วงนี้ จะมีผลกระทบในช่วงที่ยางออกมามาก คือ ประมาณเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ ทำให้กระทบต่อราคายางมากยิ่งขึ้น ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งหากจำเป็นที่จะขาย ก็ควรจะขาย ในช่วงปิดกรีดไปแล้ว แต่ไม่ว่าจะขายในช่วงไหนก็ตาม ก็จะมีผลกระทบต่อจิตวิทยาการตลาด ในการซื้อขายยางพาราล่วงหน้า เพราะฉะนั้น ตนยังยืนยันแนวคิดเดิมว่า หาก คสช. ไม่ขายยาง แต่นำยางมาใช้ในประเทศให้มากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ในการสร้างจิตวิทยาการตลาด เพื่อให้เห็นว่าปริมาณยาง ในตลาดโลกจะไม่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนการที่จะนำเงินมาชดเชยให้กับเกษตรกร จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่ง คสช. สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ราคายางต่ำกว่าราคากลาง ฉะนั้น การที่จะเข้ามาช่วยเหลือโดยการชดเชยให้กับเกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจึงมีความชอบธรรม ฉะนั้น หาก คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ที่จะเข้ามารับผิดชอบในเรื่องของปัญหาราคายางนั้น และเคยพบกับพ่อค้าส่งออกยางขนาดใหญ่ไปแล้ว ก็อยากให้ พล.อ.ฉัตรชัย รับฟังความเห็นของภาคส่วนอื่นด้วย เนื่องจากราคายางกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกยางทั่วประเทศ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลชุดนี้ด้วย เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตหลัก
นายชินวรณ์ เสนอว่า ควรมีการประกาศมาตรการแก้ไขระยะสั้นและยาวให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และหาก พล.อ. ฉัตรชัย ออกมาพูดเอง ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นเรื่องของจิตวิทยาการตลาดในระดับโลกด้วย นอกจากนี้ ภารกิจแรกที่ พล.อ.ฉัตรชัย ควรทำเกี่ยวกับเรื่องยาง คือ การแสวงหาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตหลัก คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้เกิดความชัดเจนก่อน
“หากดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว คือ 1. ชดเชยหรือช่วยเหลือเกษตรกรในขณะที่ยังมีความเดือดร้อนอยู่ 2. แก้ไขปัญหาโดยการลดอุปสงค์หรือปริมาณยางในตลาดลงมา ด้วยการไม่ส่งออกหรือขายยาง รวมทั้งการลดพื้นที่การปลูก ขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพราะราคายาง เป็นพืชผลการเกษตรที่แตกต่างจากสินค้าเกษตรชนิดอื่น เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์หรืออุปทานเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับจิตวิทยาการตลาด ฉะนั้น รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการและจัดอันดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับต้นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น” นายชินวรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช. ระบุว่าจะพยายามทำให้ราคายาง อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนตัวคิดว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า เมื่อมีข่าวเรื่องการขายยางออกมา ทำให้ราคายางอยู่ที่ 47 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่แนวโน้มราคายางในตลาดโลกก็จะปรับตัวลดลง หากมีการขายออกไปเพราะฉะนั้นราคาที่เหมาะสมและเป็นไปตามกลไกตลาด จะต้องเริ่มต้นราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต คือกิโลกรัมละ 64 บาท และตนเชื่อว่า หาก คสช. ได้ประกาศอย่างจริงจังที่จะไม่ขายยางในช่วงนี้ โดยวางแผนในการลดพื้นที่การปลูก ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ราคายางก็จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่จะไปคาดหวังว่าราคายางจะสูงเหมือนสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์คงเป็นไปได้ยาก เพราะในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีไทยประเทศเดียวที่มีปริมาณการปลูกยางเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 คือ จาก 12 ล้านตัน เป็น 18 ล้านตัน และหากรวมกับยางของประเทศเวียดนาม ลาว และจีน ที่ปลูกเพิ่มขึ้นด้วยนั้น ก็จะเห็นได้ว่า 4-5 ปีข้างหน้า ปริมาณยางจากการปลูกเพิ่มขึ้น ก็จะมากขึ้นตามลำดับ
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรที่จะดำเนินการยุทธศาสตร์ โดยเป็นผู้นำเรื่องยางของอาเซียน คือ นำกลุ่มประเทศในอาเซียนทั้งหมดมารวมตัวกัน ในการกำหนดพื้นที่การปลูกและกำหนดราคายางในอนาคต จึงจะสามารถทำให้ราคายางปรับตัวขึ้นมา แต่หากไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์นี้ได้ ก็ไม่สามารถคาดหวังได้เลย ว่าราคายางจะปรับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 100 กว่าบาทขึ้นไป เท่าที่ตนทราบมาคือ ประเทศจีนขายยางในสต๊อกกลับไปให้มาเลเซีย เพื่อเตรียมที่จะช้อนซื้อยางในสต๊อกของประเทศไทย เพราะฉะนั้นการที่ไทยเตรียมจะนำยางไปขายให้ประเทศอื่น ในราคา 2-3 หมื่นตัน หรือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณยางทั้งหมด จึงไม่มีผลต่อการยกระดับราคายาง ถึงแม้ว่า การเปิดตัวขายกับประเทศอื่นๆ มากนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว แค่ร้อยละ 1 เท่านั้น จึงไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรอง หรือจิตวิทยาการตลาดให้ราคายางสูงขึ้นได้ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องลดอุปสงค์ของเรามา กับประเทศในอาเซียนที่ปลูกยางทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรม