ป.ป.ช.รอ สนช.ชี้ขาดเดินหน้าถอดถอนที่ค้างหรือไม่ เตรียมสำนวนถอด “ปู” กรณีโกงข้าวให้ด้วย พร้อมส่ง จนท.ติว สนช.ยื่นทรัพย์สิน ย้ำอีกครั้ง คสช.ไม่ต้องยื่น แต่ถ้าควบ ครม.ก็ไม่รอด
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมบรรจุวาระเพื่อนำไปสู่การหารือเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ขณะนี้ สนช.ยังไม่มีการประสานงานมายัง ป.ป.ช.แต่อย่างใด แต่ ป.ป.ช.ก็กำลังรอความชัดเจนอยู่เช่นกัน เพราะหาก สนช.ระบุว่า สามารถพิจารณาเรื่องถอดถอนต่อไปได้ ทาง ป.ป.ช.จะได้ส่งเรื่องคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีรับโครงการรับจำนำข้าวไปให้พิจารณา รวมทั้งจะได้ดำเนินการเรื่องคดีถอดถอนที่ค้างการพิจารณาอยู่ในชั้น ป.ป.ช.ที่กำลังชะลอเรื่องอยู่ให้เดินหน้าต่อไป
“ต้องดูก่อนว่า สนช.มีความเห็นต่อเรื่องการถอดถอนอย่างไร แล้วทางสำนักเลขาธิการ ป.ป.ช.จะนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้พิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถพิจารณาต่อไปได้หรือไม่อย่างไร แต่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาที่ดำเนินการไต่สวนอยู่ตลอดเวลา เช่น กรณีที่เกี่ยวเนื่องเรื่อง 308 ส.ส., ส.ว. คือ ประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นคดีอาญา ยังดำเนินการไต่สวนต่อไป โดยอยู่ในขั้นสอบพยาน ยังไม่แล้วเสร็จ”
นายสรรเสริญเปิดเผยด้วยว่า ส่วนเรื่องถอดถอนที่ ป.ป.ช.ส่งไปให้ทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่สำนักเลขาฯ สนช.ในตอนนี้แล้ว คือ กรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา และ 36 อดีต ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องรอฟังว่า สนช.จะพิจารณาอย่างไร
ส่วนประเด็นการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะกระบวนการสรรหายังไม่แล้วเสร็จ สำหรับการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ป.ป.ช.ได้รับการประสานจากสำนักงานเลขาธิการ สนช.แล้วว่า ป.ป.ช.จะไปให้คำแนะนำเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ไปที่รัฐสภา 3 ช่วงเวลาด้วยกันคือ วันที่ 21-22 ส.ค., 28-29 ส.ค. และ 4-5 ก.ย. 57 นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้คำแนะนำและหากสนช.ท่านใดที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินเสร็จเรียบร้อยแล้วก็สามารถยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่เดินทางไปนั้นได้เช่นกัน เพราะจะครบกำหนดวันยื่นคือวันที่ 7 ก.ย. 57
นายสรรเสริญกล่าวว่า เมื่อ สนช.ยื่นบัญชีทรัพย์สินมาแล้ว ป.ป.ช.จะดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นและต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะภายใน 30 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบทรัพย์สินฯ ของ ป.ป.ช.จะได้ดำเนินการตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินฯ ที่ยื่นมาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้มอบนโยบายพิเศษใด เพราะเป็นหน้าที่วิธีปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว และหากตรวจสอบพบความผิดปกติก็จะเหมือนที่ดำเนินการมาทุกครั้งคือ ถ้าพบว่าผิดปกติ ยื่นเท็จ ปกปิด ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นเดียวกับ ส.ส., ส.ว., นายกฯ และ ครม.ด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า สำหรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า “คสช.ไม่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ถ้าเข้ามาเป็น ครม.ก็ต้องยื่นนะ”