xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ติง “วินธัย” เข้าใจผิด ยันท่อส่งก๊าซเป็นของแผ่นดินอยู่แล้ว รัฐเข้าถือหุ้น 100% ได้เลย ไม่ต้องรอเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ว.กทม.ขุดที่มาท่อก๊าซผนวกคำสั่งศาลฯ ยันเป็นของแผ่นดินอยู่แล้ว หาก คสช.จริงใจให้รัฐถือหุ้น 100% สามารถทำได้ทันที ติงตรรกะ “วินธัย” ยิ่งเพิ่มการผูกขาดโดยเอกชน ย้ำอันตรายตรวจสอบทุจริตไม่ได้ วัดใจ คสช.หักกลุ่มทุนเหนือรัฐ ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติและ ปชช.อย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 ส.ค. เวลาประมาณ 00.30 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงกรณีที่ พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับประเด็นการแยกกิจการท่อส่งก๊าซเป็นบริษัทใหม่ โดยอ้างว่าเป็นนโยบายรัฐที่ไม่ต้องการให้มีการผูกขาด ปตท.เป็นผู้ลงทุนระบบท่อก๊าซ และรัฐยังไม่สามารถถือครองได้ 100% โดยระยะแรกจะถือ 25% แต่ในระยะยาว รัฐมีแผนที่จะเข้าถือครอง 100% นั้น

ตนขอโอกาสทำความเข้าใจดังนี้

1) ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้อำนาจรัฐ กฎหมายบัญญัติว่า ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน หรือการใช้อำนาจรัฐ เป็นทรัพย์สินที่ต้องใช้เพื่อกิจการสาธารณะ และกิจการอันเป็นไปเพื่อการสารณูปโภคเท่านั้น ทรัพย์สินแบบนี้กฎหมายบัญญัติว่าจะไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี คือถูกยึดเหมือนทรัพย์สินเอกชนไม่ได้ จึงต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นของหลวงเท่านั้น จะซื้อขาย หรือให้เอกชนมาเป็นเจ้าของมิได้แม้แต่บาทเดียว

2) การแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อตั้งบริษัทใหม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เพื่อกำจัดการผูกขาดของเอกชนนั้น เป็นการตั้งธงไว้ถูกต้อง แต่ดิฉันมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การตั้งธงกำจัดการผูกขาดเอกชนด้วยวิธีนี้ มีแต่จะเพิ่มการผูกขาดโดยเอกชนหนักขึ้นกว่าเดิม ดิฉันไม่ทราบว่าใครให้ข้อมูล พ.อ.วินธัยที่ว่ารัฐจะมีหุ้นในบริษัทใหม่นี้เพียง 25% ส่วนเอกชนจะรายใหม่หรือรายเก่ารวมกันมีหุ้นถึง 75% แสดงว่ากิจการท่อก๊าซจะไม่จัดเป็นองค์การมหาชนของรัฐอีกต่อไป ไม่แม้แต่การเป็นรัฐวิสาหกิจตามระบบงบประมาณอย่างที่ ปตท.เป็นอยู่ในขณะนี้

หากเป็นจริงดังว่า นี่ก็คือการผลักดันของกลุ่มทุนที่จะให้มีแปรรูปโครงข่ายพื้นฐานในระหว่างที่บ้านเมืองยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นการใช้อำนาจพิเศษเหนือรัฐธรรมนูญของ คสช.เช่นนั้นหรือ? เพราะในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เคยบัญญัติไว้ในมาตรา 84 (11) ว่า “การดำเนินการใดที่เป็นเหตุให้โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 จะกระทำมิได้” อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจาก คมช.ซึ่งมีเจตนารมณ์สกัดกั้นการแปรรูปโครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมิให้ตกเป็นของเอกชนเกิน 49% แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เจตนารมณ์พิทักษ์สาธารณสมบัติของแผ่นดินจะต้องดำรงอยู่สืบไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีท่อก๊าซธรรมชาติ นับเป็นสาธารณูปโภคที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ จะต้องเป็นของรัฐ 100% ไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน จะให้เอกชนถือครองร่วมแม้แต่วันเดียวก็ไม่สมควร

“3) ดิฉันขอย้ำว่า กิจการที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ รัฐต้องเป็นเจ้าของ เพราะการผูกขาดโดยรัฐ ประชาชนยังสามารถตรวจสอบได้ และรัฐมีระบบในการตรวจสอบทั้งทางรัฐสภา หน่วยราชการและองค์กรอิสระต่างๆ แต่ถ้ากิจการที่ผูกขาดถูกถ่ายโอนไปเป็นกิจการของเอกชน ประชาชนจะถูกเอาเปรียบ และจะไม่สามารถตรวจสอบกิจการของเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพได้เลย

4) การอ้างประสิทธิภาพของเอกชนในการบริหารงานนั้น เป็นไปเพื่อถ่ายโอนกิจการผูกขาดของรัฐไปให้เอกชน ต้องถามว่าประสิทธิภาพของเอกชนเป็นไปเพื่อใคร? ประสิทธิภาพของเอกชนคือการทำกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร? กิจการผูกขาดดิฉันเชื่อว่ารัฐทำได้ดีกว่าเอกชน ประสิทธิภาพของกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐ ไม่ได้เน้นที่กำไร แต่มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน คือราคายุติธรรม การบริการ การเข้าถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และมีความมั่นคงปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

ในสมัยที่กิจการพลังงานของไทยยังเป็นองค์การเชื้อเพลิง และองค์การก๊าซแห่งชาติ ก่อนรัฐจะนำ 2 หน่วยงานนี้มารวมเป็น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) องค์การเชื้อเพลิงมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า “เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ และช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน” มาบัดนี้ในยุค คสช.จะปล่อยให้กิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อช่วยเหลือประชาชน กลายเป็นกิจการที่ให้เอกชนแสวงหากำไรแล้วหรือ?

5) เมื่อกิจการท่อก๊าซเป็นกิจการที่ผูกขาด รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงต้องเป็นกิจการที่ให้รัฐเป็นผู้ผูกขาด ไม่ใช่ให้เอกชนผูกขาด ดูตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น บริษัท ซีนุก (CNOOC) เป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานแห่งชาติของจีน ที่ดำเนินการลงทุนด้านพลังงาน ก็เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีน 100% บริษัทเทมาเส็กของสิงคโปร์ ก็เป็นบริษัทลงทุนของรัฐในกิจการน้ำมัน, สายการบิน, ธนาคาร โทรคมนาคม ฯลฯ ที่รัฐถือหุ้น 100% บริษัท ปิโตรนาสของมาเลเซีย และแม้แต่บริษัท กาลิกาลี่ อันเป็นบริษัทสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมของเขา ซึ่งสร้างรายได้แก่รัฐอย่างมหาศาล ก็เป็นบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งชาติด้านพลังงาน ที่รัฐถือหุ้น 100% เช่นกัน

จะเสียหายอะไรที่ประเทศไทยจะมีบริษัทพลังงานแห่งใหม่ ที่รัฐถือหุ้น 100% แทน ปตท.เป็นโอกาสดีที่ถ้าจะมีการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตั้งบริษัทใหม่ ก็ต้องให้เป็นบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ 100%

6) ดิฉันมีความยินดีที่ได้ยินจาก พ.อ.วินธัย ที่ว่า คสช.มีแผนระยะยาวที่จะเข้าถือครองกิจการท่อก๊าซ ธรรมชาติทั้ง 100% ซึ่งถ้าเป็นจริงเช่นนั้น คสช.ไม่ต้องรออนาคตระยะยาว เพราะปัจจุบันท่อก๊าซธรรมชาติก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน100% อยู่แล้ว ถ้าจะตั้งบริษัทกิจการท่อก๊าซเป็นของรัฐ 100% ดิฉันมั่นใจว่าประชาชนจะสนับสนุน คสช.อย่างแน่นอน

7) พ.อ.วินธัยเข้าใจผิดที่ว่า บมจ.ปตท.เป็นผู้ลงทุนสร้างท่อส่งก๊าซ ทำให้รัฐไม่สามารถถือครองหุ้นของบริษัทใหม่ทั้ง 100% แท้จริงแล้ว ท่อส่งก๊าซทั้งบนบกและในทะเล สร้างก่อนการแปรรูป 2544 รัฐจึงเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง ตั้งแต่ ปตท.ยังเป็นองค์การมหาชนของรัฐ

“โปรดพินิจคำพิพากษาให้ถ่องแท้”

ขอให้ พ.อ.วินธัย ดูเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คณะรัฐมนตรีและ บมจ.ปตท.ไปกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในคำพิพากษาหน้า 70-71 ว่า

“ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปตท.มีสถานะเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์การของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกิจการของรัฐ โดยทุนทั้งหมดของ ปตท. ได้มาจากเงินและทรัพย์สินของรัฐที่รับโอนมาจากกระทรวงกลาโหมในส่วนของกรมการพลังงานทหารและโรงกลั่นน้ำมัน องค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ ทรัพย์สินดังกล่าวของ ปตท. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521...

...ปตท. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 โดยได้รับทุนทั้งหมดมาจากรัฐ และรัฐยังจัดสรรเงินให้ ปตท.มาโดยตลอด อีกทั้งอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นอำนาจมหาชนของรัฐที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบให้แก่ ปตท.ซึ่งเป็นองค์การของรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซ ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการของรัฐตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และในส่วนของการใช้อำนาจมหาชนเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลตลอดมาว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อกิจการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น เช่น กิจการเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค และเพื่อการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ... และต้องใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการของรัฐเท่านั้น”

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามที่ศาลฯระบุในคำพิพากษาหน้า 78 ว่า “การที่ ปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากองค์การของรัฐซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชน ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ.ปตท.) จึงมิได้มีสถานะเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป และไม่อาจมีอำนาจมหาชนของรัฐ รวมทั้งไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของ ปตท.ที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแทนรัฐได้ จึงต้องโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวกลับไปเป็นของรัฐ...”

สรุปคำพิพากษาชัดเจนเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ อันประกอบด้วย ท่อส่งก๊าซ ท่าเรือ โรงแยกก๊าซ และคลังปิโตรเลียม ฯลฯ เป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจมหาชน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและวันนี้ยังเป็นของรัฐ 100%”

ดิฉันอยากฟังว่ามีหน่วยราชการใดบ้างที่กล้าออกมายืนยันว่า “ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งระบบในคำพิพากษาไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” มาตั้งแต่ก่อนแปรรูป จนกระทั่งถึงวันนี้

ดังนั้น หาก คสช.มีเจตนารมณ์ในการจะให้รัฐถือหุ้นในกิจการท่อก๊าซธรรมชาติทั้ง 100% จริง ก็สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอไปทำในอนาคตระยะยาว เพราะวันนี้ท่อก๊าซธรรมชาติยังเป็นของรัฐทั้ง 100% ดังกล่าวแล้ว

ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรัฐบาลของนักการเมืองพรรคใดกล้าใช้อำนาจรัฐกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน ทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมาย และคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดได้เลย มิหนำซ้ำยังสมคบคิดกันยักย้ายถ่ายเทเล่นแร่แปรรูปสมบัติของประชาชนไปเป็นสมบัติเอกชน

หาก คสช.จะฝากเกียรติประวัติของทหารหาญ ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนในการเข้าควบคุมอำนาจการบริหารในครั้งนี้ จะถือเป็นการที่ คสช.ได้ประพฤติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหลัก “ราชสังควัตถุ 4” ซึ่งเป็น ”ธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนของนักปกครอง” อย่างแท้จริง

ดิฉันเชื่อมั่นว่าประชาชนจะแซ่ซ้องสรรเสริญและยกย่อง คสช.เป็นวีรบุรุษที่แท้จริง ที่กล้าใช้อำนาจพิเศษในการหักด่านกลุ่มทุนเหนือรัฐ ที่ครอบงำแทบทุกองคาพยพในบ้านเมืองนี้ ทั้งรัฐสภา หน่วยราชการ และองค์กรตรวจสอบทั้งหลาย ตลอดจนสื่อ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานอันยั่งยืนและประโยชน์สุขที่แท้จริงของชาติและประชาชน”


กำลังโหลดความคิดเห็น