มติที่ประชุม ป.ป.ช.ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน เช่นเดียวกับสมาชิก สนช.ปี 49 และต้องแสดงต่อสาธารณชน แต่ให้ยกเว้นถือครองหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัมปทานรัฐต่อไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 คุ้มครองอยู่
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงถึงผลการประชุม ป.ป.ช.กรณีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาหารือการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าสมาชิก สนช.จะมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิรและหนี้สินหรือไม่ หากมีหน้าที่ยื่นจะต้องดำเนินการยื่นตั้งแต่เมื่อใด โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 6 วรรคสอง ได้บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และรัฐสภา ประกอบกับมาตรา 41 ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.
จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า สมาชิก สนช.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในสถานะและทำหน้าที่เช่นเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว. ดังนั้น สมาชิก สนช.จึงย่อมมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.ป. ป.ป.ช.) ปี 2542 มาตรา 32 โดยจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือนับตั้งแต่วันที่ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาเมื่อวันที่ 8 ส.ค. จึงต้องถือว่าวันที่สมาชิก สนช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. สอดคล้องกับมติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เคยพิจารณาไว้ในการประชุมครั้งที่ 7/2549 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2549 กรณีของสมาชิก สนช.เมื่อปี 2549
สำหรับประเด็นกรณีที่สมาชิก สนช.ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วจะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.ป. ป.ป.ช.แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ปี 2554 เช่นเดียวกับตำแหน่ง ส.ส.หรือ ส.ว. หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ประกอบกับ พ.ร.ป. ป.ป.ช.ปี 2542 ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงสองตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ดังนั้น บัญชีทรัพย์สินของสมาชิก สนช.ปี 2549 จึงไม่มีการประกาศเปิดเผย แต่ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 ประกอบกับ พ.ร.ป. ป.ป.ช.ปี 2552 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ปี 2554 ได้กำหนดให้ต้องประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ ส.ส.และ ส.ว.เพิ่มเติม ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อสมาชิก สนช.ปี 2557 ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. และมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่นเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว. จึงเห็นควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและเอกสารประกอบของสมาชิก สนช.ปี 2557 ต่อสาธารณชนตามมาตรา 35
“ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติกำหนดให้สมาชิก สนช. มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 โดยการยื่นบัญชีฯ ให้ถือวันปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาเป็นวันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคือวันที่ 8 ส.ค. และให้มีการประกาศเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 35 เช่นเดียวกับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา” นายสรรเสริญกล่าว
เมื่อถามว่า สมาชิก สนช.หลายคนถือครองหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัมปทานรัฐ ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งของ ส.ส.และ ส.ว. ดังนั้น สนช.ที่มีสถานะเทียบเท่า ส.ส.และ ส.ว.จะสามารถถือครองหุ้นเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า สนช.ยังสามารถถือครองหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ต่อไปได้ ไม่ต้องโอนให้บุคคลอื่น เนื่องจากมีข้อยกเว้นตามมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้การคุ้มครองอยู่ ซึ่งระบุว่าในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ทำให้ สนช.ได้รับการยกเว้นให้ถือครองหุ้นต่อไปได้