ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 1 เผยนัดถก “พรเพชร-พีระศักดิ์” เปิดประชุมศุกร์นี้ หากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มาพรุ่งนี้ เน้นร่าง พ.ร.บ.งบ ปี 58 จ่อตั้ง กมธ.วิฯ ก่อนแปรญัตติใน 7 วัน พร้อมผุด กมธ.ยกร่างข้อบังคับประชุม โยงหลักเกณฑ์เลือกนายกฯ แต่แย้มอาจใช้ รธน.50 เทียบเคียงฉบับปัจจุบัน คาดโหวตได้ 21-22 ส.ค.ไม่เกินสัปดาห์สุดท้ายของเดือน หนุนสมาชิกแจงทรัพย์สิน ป.ป.ช.เชื่อไม่มีปัญหา ยันต้องมี กมธ.แต่อาจไม่มาก
วันนี้ (13 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.50 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในเวลา 14.00 น. ตนและนายพรเพชร ว่าที่ประธาน สนช. และนายพีระศักดิ์ พอจิตต์ ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 2 ได้นัดหารือกันถึงการเตรียมนัดประชุม สนช. เบื้องต้นหากมีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธานและรองประธาน สนช.ลงมาภายในวันที่ 14 ส.ค.ก็จะนัดประชุมได้ในวันที่ 15 ส.ค. โดยมีเรื่องเร่งด่วนคือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะใช้สมาชิกพิจารณารับหลักการวาระแรกภายในวันเดียว พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา และเปิดให้ยื่นแปรญัตติภายใน 7 วัน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังการประชุม สนช. เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อบังคับถาวร ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์เชื่อมโยงไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจะมีวิธีการเลือกอย่างไร ทั้งนี้ การประชุม สนช.นัดที่ผ่านมาเราอนุโลมใช้ข้อบังคับของ สนช.ปี 49 แต่การเลือกนายรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นอำนาจของ สนช. ต่างไปจากปี 2549 ที่ให้หัวหน้า คมช.เป็นคนเลือก
นายสุรชัยกล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องรอข้อบังคับ ก็จะหารือเรื่องนี้ในที่ประชุม โดยอาจจะทำการยกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจ สนช.ซึ่งทำหน้าที่ ส.ส.และส.ว.เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ก็น่าจะเทียบเคียงกันได้ ส่วนกำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรี ตนตั้งใจว่าควรจะเป็นวันที่ 21-22 ส.ค. หรืออย่างช้าคือไม่เกินสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. เพราะนายกรัฐมนตรีจะต้องไปแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยังมีขั้นตอนการทูลเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี จึงอยากให้มีรัฐบาลใหม่ เข้ามาบริหารงานในปีงบประมาณใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป จะได้เป็นไปตามโร้ดแมประยะที่ 2 และระยะที่ 3 ของคสช.ต่อไป
เมื่อถามถึง การชี้แจงทรัพย์สินของ สนช.ต่อ ป.ป.ช. นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนตัวมองเห็นว่ามีความจำเป็นที่ สนช.จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ คิดว่า สนช.ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การดำรงตำแหน่ง ส.ว.ของตนที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ตลอด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.ว่าจะกำหนดอย่างไร เพราะ ป.ป.ช.ไม่อาจทำนอกรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ได้
เมื่อถามว่า คณะกรรมาธิการจำเป็นต้องมีหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า จำเป็นต้องมี เพื่อจะได้มีกลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และข้าราชการ แต่ถ้าไม่มีเราจะติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และข้าราชการอย่างไร เพียงแต่หน้าที่ต้องอย่าให้ซ้ำซ้อนกัน และจำนวนกรรมาธิการก็ไม่ควรมีมากเพื่อจะได้ประหยัดงบประมาณและเบี้ยประชุม ทั้งนี้กรรมาธิการที่มีอยู่ของ 2 สภา สภาผู้แทนฯ มี 35 คณะ วุฒิสภามี 22 คณะ ต้องมาดูว่าคณะใดซ้ำซ้อนก็ให้ตัดออก ส่วนกรรมาธิการที่มีภารกิจเหมือนกันนั้นก็ยุบมารวมกัน