รองหัวหน้า คสช.ประชุมภาครัฐและเอกชน ช่วยเหลือเกษตรกร และส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ข้อสรุปหาตลาดจำหน่วยผลผลิตลองกอง มังคุดตามจังหวัดต่างๆ พร้อมหาพื้นที่เหมาะสมตั้งนิคมอุตสาหกรรม
พล.อ.ท.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านรับรองกองทัพอากาศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เชิญส่วนราชการ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ศอ.บต. และ กอ.รมน. ภาค 4 และภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมยางพาราไทย เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรและการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.
พล.อ.ท.มณฑลกล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว ผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ได้บรรยายสรุปถึงสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ แม้จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแต่เมื่อดูจากสถิติในรอบหลายปีพบว่ามีจำนวนที่ลดลง จากนั้นได้มีการหารือถึงการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ได้แก่ ลองกอง และมังคุด อยู่ในช่วงที่มีผลผลิตออกมามาก ต้องการความช่วยเหลือในการระบายผลผลิต โดยส่วนราชการและภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและร่วมหาทางออกที่จะนำผลไม้ดังกล่าวไปจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเสนอแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง พร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เช่น การหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม การส่งเสริมด้านเงินลงทุน ตลอดจนการดูแลรักษาความปลอดภัยเพื่อให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจินได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รับเป็นหน่วยในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และจัดทำผลการประชุมนำเรียนให้หัวหน้า คสช.ทราบต่อไป
พล.อ.ท.มณฑลกล่าวต่อว่า พล.อ.อ.ประจินได้ขอบคุณส่วนราชการและภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องดำเนินการทุกด้านไปพร้อมกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ จิตวิทยา สังคม และความมั่นคง การร่วมมือกันในวันนี้เปรียบเสมือนการช่วยกันสร้างชีวิตใหม่ให้แก่พี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา