xs
xsm
sm
md
lg

“วิรัตน์” หวั่น ป.ป.ช.ลดเงินทำธุรกรรม กระทบ ศก. “วัชระ” พร้อมหนุน ขอโกงไร้อายุความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“วิรัตน์” เชื่อลดวงเงินทำธุรกรรมรายงาน ป.ป.ช.ไม่ได้ กระทบ ศก. ทำงานหนักขึ้น ลุยคดีไหนถูกมองเลือกปฏิบัติ “วัชระ” เชื่อออกกฎเหตุโกงในราชการสูง คนโกงสะดุ้ง ปชช.เฉยๆ แนะโกงไม่ให้มีอายุความ จับมือสถาบันการเงินสอบ ขรก.-นักการเมืองร่วมหัวโกง

วันนี้ (30 ก.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สิน ในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อ ป.ป.ช. โดยเงินสดหมุนเวียน 5 แสนบาท และอสังหาริมทรัพย์ 1 ล้านบาทว่า ตนเห็นด้วยในหลักการนี้และในยอดเงิน 2 ล้านบาท แต่ในทางกลับกันเชื่อว่าหากลดจำนวนเงินลง เป็นวงเงินการทำธุรกรรมเป็น 5 แสนบาท และอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ล้านบาท คงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้ ป.ป.ช.ทำงานหนักขึ้น เพิ่มเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานเท่าไหร่ก็ไม่สามารถทำงานได้

นายวิรัตน์กล่าวว่า เพราะสุดท้ายแล้วคดีมาจบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากหยิบคดีไหนขึ้นมาทำก่อนก็อาจถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และอาจทำให้ความเชื่อถือลดลง ดังนั้นในทางปฏิบัติ ป.ป.ช.ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากการลดวงเงินลงจะทำให้ระบบการเงินของประเทศเดือดร้อน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและเงินหมุนเวียนทางตลาดมากขึ้น

ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งและไม่เดือดร้อนอะไร ที่ ป.ป.ช.กำหนดรายละเอียดดังกล่าว แต่ควรกำหนดบทลงโทษเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันให้ไม่มีอายุความด้วย ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าสาเหตุที่ ป.ป.ช.ออกกฎแบบนี้เป็นเพราะการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการและการเมืองมีตัวเลขสูงมาก แต่ละปีรัฐบาลสูญเสียเงินให้กับระบบการทุจริตในวงราชการและนักการเมืองไม่ต่ำกว่า 30-40% หรือนับแสนล้านบาท ทั้งนี้คิดว่าสุจริตชนทั่วไปไม่เดือดร้อนอะไร แต่สำหรับคนที่ทุจริตคอร์รัปชันก็จะรู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิ์

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ความจริงของนักการเมืองแต่ละคน ถือเป็นการเดินตามหลังการทุจริตคอร์รัปชันในเมืองไทย เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ลำพังนักการเมืองไม่สามารถทุจริตคอร์รัปชันได้ หากปราศจากการให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากข้าราชการประจำ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง เปรียบเหมือนตบมือข้างเดียวไม่ดัง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ป.ป.ช.ทำได้จริงและไม่ล่าช้า หากสถาบันการเงินให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง โดย ป.ป.ช.จะต้องกำหนดโทษสถาบันการเงินที่ไม่รายงานต่อ ป.ป.ช.อีกด้วย” นายวัชระกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น