xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาติ” ห่วงมีฟองสบู่ จี้ช่วยการผลิตมากกว่าตลาดเงิน แนะอุดหนุนคนจนโดยตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(แฟ้มภาพ)
อดีตขุนคลังแจงต่างประเทศหยุดอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่ม ทำค่าเงินไทยแข็งค่าขึ้น นักลงทุนพอใจ แต่ห่วงเสี่ยงฟองสบู่ กระทบส่งออก จี้ช่วยภาคการผลิตที่แท้จริงมากกว่าตลาดเงิน กันภาพลวงตา ศก. ชี้ คสช.แก้ปัญหาดี แต่ต้องดูแลความยากจน แนะปรับจากอุดหนุนสินค้ารายตัว เป็นอุดหนุนคนยากจนโดยตรง

วันนี้ (29 ก.ค.) นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยจากต่างประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือ นโยบายการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันตก ส่งผลทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผลักดันให้ตลาดทรัพย์สิน ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น และในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 และเมื่อมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะหยุดอัดฉีดสภาพคล่องในเดือนตุลาคม นี้ ส่งผลให้มีเงินไหลออกสู่ตลาดใหม่ ทำให้ค่าเงินของไทยแข็งค่าขึ้นจากเดิมประมาณ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 31.8-31.9 บาทต่อดอลลาร์ เป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างพอใจเพราะเกิดกำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทั้งนี้มีความเป็นห่วงว่าเหตุการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงภาคการผลิตที่แท้จริงจากเกษตรกร และกลุ่ม SMEs รัฐบาลใหม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรจะช่วยเหลือภาคการผลิตที่แท้จริงมากกว่าตลาดเงิน ตลาดทุน เนื่องจากจะให้เกิดภาพลวงตาต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้จากการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยสร้างความเชื่อมั่น แก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องดูแลโดยเฉพาะความยากจนของประชาชน แม้ คสช.จะมีการจ่ายเงินค่าข้าวจำนวนกว่า 9 หมื่นล้านบาทให้แก่เกษตรกรในโครงการรับจำข้าวแล้ว แต่เงินเหล่านี้ไม่สามารถสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชนได้ เนื่องจากเกษตรกรจะต้องนำเงินไปใช้หนี้จากการกู้ยืมเงินนอกระบบ ประกอบกับราคาข้าวในขณะนี้ที่ไม่ดีเช่นจากเดิม ต้นทุนผลิตที่สูง โดยตนแนะนำให้เปลี่ยนจากนโยบายอุดหนุนสินค้ารายตัวมาใช้นโยบายอุดหนุนคนยากจนโดยตรง โดยนำเงินจากรัฐบาลไปช่วยอุดหนุนโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น