xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติอีสานระดมความเห็น หาทางออกหนี้สินครัวเรือน เผยคนไทยวินัยทางการเงินต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - แบงก์ชาติอีสานสัมมนาระดมความเห็นหาทางแก้ปัญหาและทางออกหนี้สินครัวเรือนไทย เผยคนไทยมีวินัยทางการเงินต่ำ ซ้ำค่าครองชีพสูง จนกลายเป็นความเสี่ยงของกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะลดลง และความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว กระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

วันนี้ (10 ก.ค.) ที่โรงแรมเซนทาราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี ดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายวางแผนและงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ ปัญหา และทางออกหนี้สินครัวเรือนไทย ซึ่งจัดโดย ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบันฉบับที่ 11 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากระดับรายได้ของครัวเรือนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคครัวเรือน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีการจัดการการเงินที่ไม่เหมาะสม ประสบกับปัญหาหนี้สินสูงขึ้นเป็นลำดับๆ

จนเป็นความเสี่ยงของกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะลดลง และความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาว กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

ธปท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้จัดสัมมนาวิชาการขึ้นในหัวข้อ "ปัญหาและทางออกหนี้ครัวเรือนไทย" เพื่อเป็นการศึกษาของ ธปท. สำนักงานภาคทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ สำนักงานภาคเหนือ และสำนักงานภาคใต้ มาเผยแพร่เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางการแก้ไขหนี้สินครัวเรือน

รวมทั้งใช้เวทีนี้ในการรับฟังความคิดเห็นจากภาคราชการ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน นักวิชาการ เพื่อใช้ประกอบการศึกษา และดำเนินนโยบายของธนาคารต่อไป

ด้าน ดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายวางแผนและงบประมาณ ธปท. กล่าวว่า หากมองย้อนสถานการณ์เศรษฐกิจไปยังปี 2551 ทุกคนคงจำได้ว่าเป็นปีที่เกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา สาเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์นั้น เกิดจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6.5 เหลือร้อยละ 1 ทำให้ภาคครัวเรือนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย

จึงกลายเป็นปัจจัยทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการเก็งกำไรกันจนเกิดเป็นราคาทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือภาวะฟองสบู่ ดังนั้นเมื่อราคาที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินลดลงอย่างรวดเร็วหรือฟองสบู่แตก จึงส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน จนทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังอยู่ไม่แน่นอน

จากประสบการณ์ตัวอย่างของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าหากภาคครัวเรือนก่อหนี้ในระดับสูง เมื่อเกิดเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวจะส่งผลต่อระดับการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลงมากและยาวนาน

จากผลสำรวจการเงินของไทยพบว่า คนไทยมีทักษะการเงินค่อนข้างต่ำ คิดเป็นร้อยละ 58.5 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยที่ร้อยละ 62.3 ของ 14 ประเทศ ปัจจัยหนึ่งเนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้บริการทางการเงิน และไม่มีความรู้ในการตัดสินใจในด้านการเงินที่ซับซ้อน ขณะที่พฤติกรรมของคนไทยยังไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย อีกทั้งยังพบว่าประชาชนเกือบ 1 ใน 3 แก้ปัญหารายรับไม่เพียงพอด้วยการขอสินเชื่อ ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาคครัวเรือนไม่มีทักษะทางการเงินที่ดีเพียงพอ

ดร.อมรากล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการที่จะส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงินที่ดี ทั้งนี้ สถาบันการเงินควรมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลาย ให้เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม เพื่อเป็นการกระตุ้นและเพิ่มทางเลือกในการออมและลงทุน รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ส่วนประชาชนควรเร่งสร้างวินัยทางการใช้เงิน โดยลดการใช้จ่ายที่เกินตัว และไม่ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครัวเรือน และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

กำลังโหลดความคิดเห็น