xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.หนุนตัดสิทธิ์พวกซื้อเสียงตลอดชีวิต พท.ห่วง รธน.ใหม่ ไม่เป็น ปชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาธิต ปิตุเตชะ  (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หนุนแนวคิด “บวรศักดิ์” ตัดสิทธิ์เลือกตั้งตลอดชีวิตพวกนักการเมืองซื้อเสียง พร้อมแนะ ให้เอาจริงกับพวกโกง ที่สำคัญ กกต. ต้องเด็ดขาด ด้านรองเลขาฯเพื่อไทย กังวล รธน. ฉบับใหม่จะไม่เป็นประชาธิปไตย อ้างมุ่งจัดการนักการเมือง และพรรคการเมืองเป็นหลัก

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เสนอแนวคิดตัดสิทธิ์ทางการเมืองนักการเมืองที่โกงซื้อเสียงเลือกตั้งตลอดชีวิต ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะการเสนอโทษให้นักการเมืองซื้อเสียงให้แรงที่สุด และให้มีความเกรงกลัวเป็นเรื่องป้องปราม แต่สำหรับตนแค่นั้นคงไม่พอ เพราะนักการเมืองที่ชอบซื้อเสียงมักมีทัศนคติ ว่า เอาชนะไว้ก่อน ไม่ว่าวิธีไหนพอเป็นแล้วค่อยมาแก้ไขกัน และบังเอิญส่วนใหญ่ที่ผ่านมา มักจะแก้ไขได้จริงอย่างที่เขามีความเชื่อกันด้วย เพราะการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เด็ดขาด และล่าช้า ที่สำคัญความคิดของสังคมก็มักจะคิดว่าผู้แพ้มาร้องเรียน ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จึงทำให้กระบวนการเอาผิดเพื่อลงโทษคนโกงซื้อเสียงไม่ศักดิ์สิทธิ์ คนไม่กลัว

ดังนั้น เมื่อกฎหมายให้อำนาจแล้ว บอกว่าแค่เชื่อว่าไม่สุจริตเที่ยงธรรมก็จัดการให้เด็ดขาดตามหลักที่ กกต. ชุดแรกเคยทำได้ผล คือ เมื่อผ่านการสืบสวนสอบสวนแล้ว มีข้อมูลแค่เชื่อได้ว่ามีการกระทำผิด ก็สามารถดำเนินการตัดสิทธิ์ได้เลย ซึ่งจะเป็นการคัดกรองให้คนที่มีคุณภาพเข้าสู่อำนาจมาบริหาร และทำหน้าที่นิติบัญญัติไม่เละอย่างที่ผ่านมา

ดังนั้น การจัดการกับคนซื้อเสียงคือ 1. โทษหนัก 2. เด็ดขาดและปฏิรูป กกต. ที่สำคัญคือ ไม่ให้มีการวิ่งเต้นในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการทำคดีซื้อสิทธิขายเสียง และเร่งทำคดีเลือกตั้งให้รวดเร็ว ไม่ใช่รับรองให้คนเข้าสู่อำนาจก่อนแล้วมาสอยทีหลัง ซึ่งยากในการจัดการ และเข้าตำรากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ และ 3. สำคัญที่สุดคือ การปลุกจิตสำนึกของสังคมว่าคนชนะจากการโกง ต้องถูกตรวจสอบและเอาออกจากตำแหน่งได้ ไม่ใช่ใช้โวหาร สำนวนว่าขี้แพ้ชวนตี

ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ได้ฟังผู้เกี่ยวข้องอธิบาย ตนเกิดความกังวลว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เพราะผู้เกี่ยวข้องเน้นประเด็นมุ่งจัดการกับนักการเมือง และพรรคการเมืองเป็นหลัก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วปัญหาอยู่ที่นักการเมือง และพรรคการเมืองเป็นส่วนใหญ่จริงหรือ ลองมองกลับไปอีกมุมหนึ่งอาจได้ข้อคิดในอันที่จะร่วมกันสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงและยั่งยืน

“ผมหวังที่จะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราถูกกำหนดโดยไม่มีอคติกับนักการเมือง ประการสำคัญโครงสร้างของภาคส่วนต่างๆ ควรจะเอื้อให้ประชาธิปไตยของเรามั่นคงและยั่งยืน”

ส่วนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชะลอการจ่ายเงินกองทุนฟื้นฟูฯผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้น นายชวลิต กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะการชะลอการสั่งจ่ายคงอยู่ในขั้นตอน เพื่อหาข้อมูลให้รอบด้าน ขณะเดียวกัน คนเป็น ส.ส. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย เฉพาะอย่างยิ่งการที่ประชาชนเลือกให้มาเป็นตัวแทนของเขาย่อมมีศักดิ์ศรีเหมือนกับบุคลากรในภาคส่วนอื่นๆ เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น