xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์ : เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผ่าประเด็นร้อน

ได้เห็นรายละเอียดในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พศ. 2557 ไปแล้วตั้งแต่เมื่อค่ำวันที่ 22 กรกฎาคม ตรงกับวันครบรอบสองเดือนหลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าเข้ายึดอำนาจควบคุมการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม การประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามคำสัญญาก่อนหน้านี้และเป็นไปตามโรดแมปขั้นที่ 2

ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรัฐบาล มีสภาปฏิรูปประเทศ (สปร.) และมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบตามหลักการสากล ส่วนจะได้มาตรฐานตามความหมายหรือเปล่านั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะที่มาและปัญหาแตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีอยู่ 48 มาตรา แทบทั้งหมดล้วนยึดโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นั่นคือมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และหากกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาและตามความเป็นจริงแล้วรับรองว่า แบบนี้ “ไม่ใช่ควบคู่” กันไปกับรัฐบาล แต่ “อยู่เหนือ” รัฐบาล ชี้นำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปประเทศ รวมไปถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะต้องเกิดขึ้นในอีกราวหนึ่งปีข้างหน้า

แน่นอนว่าในเมื่อเป็นสถานการณ์พิเศษการใช้อำนาจก็ต้องพิเศษตามมา เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าจะมีการใช้อำนาจพิเศษที่ว่านั้นไปในทางเหมาะสมได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนับจากนี้ไปจะได้พิสูจน์กัน

แต่ในเวลานี้ต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ เป็นบุคคลที่ทรงอำนาจ มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศนี้แล้ว เพราะเขามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งอำนาจตามกลไกปกติ และอำนาจพิเศษที่ใช้อำนาจผ่านทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ รวมทั้งอำนาจตุลาการด้วย

หากพิจารณากันไล่ไปทีละมาตรา ที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจพิเศษของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเน้นเฉพาะที่เป็นสาระสำคัญ เริ่มจากมาตรา 19 วรรค 3 ที่ให้อำนาจคณะรักษาความสงบเสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้ นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ ความหมายก็คือปลดนายกฯได้นั่นเอง แม้ว่า หัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว วิษณุ เครืองาม จะชี้แจงว่า คสช.ไม่มีอำนาจปลดนายกฯ นั้นอาจจะใช่ เพราะไม่มีอำนาจโดยตรงต้องผ่านมติของ สนช.แต่ความจริงก็คือ สนช.ทั้งหมดจำนวน 220 คนมาจากการคัดเลือกของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไงละ

มาตรา 42 แจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง คสช.ประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี และที่น่าสนใจไปอีกก็คือ มาตรา 44 ให้อำนาจ “หัวหน้า คสช.” ใช้อำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ในการระงับยับยั้งหรือดำเนินการเพื่อรักษาความสงบ ป้องกันการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย

มาตรา 46 ให้อำนาจคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยให้สภานิติบัญญัติเห็นชอบเท่านั้น ห้ามแก้ไขร่างที่เสนอแก้ไข นอกจากนี้ยังให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างเสร็จสิ้นได้อีกด้วย และมาตรา 47 ประกาศและคำสั่งของ คสช.ที่ผ่านมาทั้งหมดให้บังคับใช้ต่อไป และตบท้ายด้วย มาตรา 48 นิรโทษกรรม คสช.

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปพิจารณาในมาตราก่อนหน้านี้ยังระบุว่า ในช่วงที่ยังไม่มี สภานิติบัญญัติ รัฐบาล และสภาปฏิรูป ก็ให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว อีกด้วย เรียกได้ว่ารวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จคนเดียวอย่างน้อยก็ช่วง สิงหาคมจนถึงเดือนกันยายนนั่นแหละ

อย่างไรก็ดี การมีอำนาจดังกล่าวอีกด้านหนึ่งสามารถเข้าใจได้ เพราะในช่วงสถานการณ์พิเศษแบบนี้ต้องเปิดทางให้เต็มที่ เพราะภารกิจที่รับปากเอาไว้คือ การออกแบบบ้านเมืองกันในแบบที่ว่ายกเครื่องกันใหม่หมด ในความหมายเรื่องปฏิรูปภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาสังคมเข้าใจดีอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ให้โอกาสทำให้สำเร็จ ขณะเดียวกันเมื่อเป้าหมายยิ่งใหญ่เป็นงานยากก็ต้องให้อำนาจในมืออย่างเต็มที่ เพราะไม่อยากให้ “เสียของ” อีก

แต่ก็นั่นแหละอีกด้านหนึ่งมันก็อดระแวงไม่ได้ว่า เมื่ออำนาจอยู่ในมือของคนใดคนหนึ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่สามารถใช้อำนาจได้ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยเฉพาะอำนาจตาม มาตรา 44 ที่พิเศษสุดๆ นั่นหมายความว่าหากเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีปัญหาด้านความมั่นคง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อยก็สามารถใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวได้ทันที

ล่าสุดแม้ว่ามีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในเมื่อตัดสินใจเข้ามายึดอำนาจและประกาศเป้าหมายปฏิรูปประเทศทุกภาคส่วน ภายในเวลาที่กำหนดเอาไว้นั่นคือภายในเดือนตุลาคม 2558 ดังนั้นจะมีอำนาจล้นฟ้า แต่หากทำตามสัญญา มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ข้างหน้ามันก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะชาวบ้านให้โอกาสอยู่แล้ว

อย่าลืม “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วความสุขจะคืนกลับมา” แค่นี้ก็โอเค !!
 วิษณุ เครืองาม
กำลังโหลดความคิดเห็น