รองเลขาธิการสภา คาด ได้ สนช. เดือน ก.ย. เร่งพิจารณาร่างงบประจำปี 58 ส่วน สปช. ได้ เดือน ต.ค. เหตุ กระบวนการสรรหาต้องใช้เวลา คสช. สั่งสภาชะลอจ่ายเบี้ยยังชีพ อดีตสมาชิกรัฐสภา ขอปรึกษาฝ่ายกฎหมาย “บุญยอด” วอนทบทวน เหตุเป็นสิทธิพึงได้ตามกฎหมาย โอดออกนโยบายเหมาเข่ง ทำนักการเมืองอ่อนแอ
วันนี้ (23 ก.ค.) นายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะร่างข้อบังคับเพื่อรองรับการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐสภา หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า เบื้องต้นจะทำการจัดพิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกทั้ง 2 สภา ได้ศึกษาทำความเข้าใจเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานต่อไป ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ที่รับผิดชอบก็จะทำการศึกษาวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ความเห็นที่ตรงกันในบางมาตราที่ทั้ง 2 สำนักงาน ต้องทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นถึงแนวทางการทำงานของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่กำกับดูแลสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่กำกับดูแลสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่า จะมี สนช. ประมาณเดือน ส.ค.- ก.ย. เนื่องจากขั้นตอนการได้มาของสมาชิกไม่ซับซ้อน และมีวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบทำการพิจารณาอย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 แต่ในส่วนของ สปช. น่าจะได้เริ่มทำงานประมาณเดือน ต.ค. เนื่องจากกระบวนการสรรหา ทั้งจำนวนคณะกรรมการ วิธีการ และกำหนดเวลา จะต้องรอกำหนดจากพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยคณะ คสช. ในฐานะรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรรหาสมาชิกแต่ละจังหวัด ตามมาตรา 30 ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาอยู่พอสมควร
รายงานข่าวแจ้งว่า ในขณะที่ คสช. อยู่ในระหว่างการแต่งตั้ง สนช. เพื่อมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หลังรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีผลบังคับใช้ ได้มีความเคลื่อนไหวในสวนของสภาเกี่ยวกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้กับอดีตสมาชิกรัฐสภา โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่สภาได้รับคำสั่งจาก คสช. ให้ชะลอการจ่ายกองทุนเบี้ยยังชีพของอดีตสมาชิกรัฐสภา รวมถึงค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าจะปรึกษาฝ่ายกฎหมายก่อน ทำให้ในสิ้นเดือนนี้อดีตสมาชิกรัฐสภาที่เป็นสมาชิกในกองทุนนี้จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพตามสิทธิที่ได้รับตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่ออดีตสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาจ่ายเงิน 5% ของเงินเดือนเข้ากองทุนและรัฐอุดหนุนส่วนหนึ่ง โดยสมาชิกรัฐสภาจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนเมื่อพ้นตำแหน่ง โดยผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนกฎหมายบังคับใช้จะได้เดือนละ หมื่นห้าพันบาท ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่ส่งเงินเข้ากองทุนตาม พ.ร.บ. นี้จะได้รับเงินในลักษณะขั้นบันไดตามวาระของการดำรงตำแหน่ง โดยอยู่ที่ประมาณ 21,000 - 42,000 บาทต่อเดือน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่การเงินของรัฐสภา ได้รับคำยืนยันว่ามีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินดังกล่าวจริง โดยได้รับข้อมูลว่าเป็นคำสั่งจาก คสช.แต่ไม่ทราบรายละเอียด ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่มีอดีตสมาชิกรัฐสภามาเบิกได้ และตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปคงไม่มีการโอนเงินเบี้ยยังชีพเข้าบัญชีอดีตสมาชิกรัฐสภาจนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกการชะลอการจ่ายเงินในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน ยังได้สอบถามไปยังอดีตสมาชิกรัฐสภาหลายคน ก็ได้รับคำยืนยันตรงกันว่า ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่ง คสช. ให้สภาชะลอการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพแล้ว แต่ไม่ทราบเหตุผลซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่า คสช. จะมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร
เมื่อสอบถามไปยัง นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีตกรรมาธิการกิจการสภา ให้ความเห็นว่า คสช. อาจมองว่านักการเมืองคือตัวปัญหาแต่อยากให้ความเป็นธรรมเพราะนักการเมืองไม่ได้เลวทุกคน และมีนักการเมืองสุจริตจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นนอกจากการทำงานการเมืองในฐานะเป็นตัวแทนประชาชน และส่งเงินเข้ากองทุนเหมือนเป็นเงินออมไม่แตกต่างไปจากพนักงานบริษัท หรือข้าราชการ จึงเห็นว่า คสช. เป็นข้าราชการน่าจะเข้าใจเพราะมีบำเหน็จบำนาญ ไม่ควรมองว่านักการเมืองเลวหมดไม่ควรได้อะไรเลย
“ผมคิดว่าการชะลอการจ่ายเงินยังชีพของ คสช. น่าจะมีการทบทวน เพราะมีคนที่เดือดร้อน เนื่องจากทำงานการเมืองไม่ได้มีธุรกิจส่วนตัว ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็ไม่ทิ้งพื้นที่ในการดูแลประชาชน จึงอยากให้ คสช. เข้าใจว่านักการเมืองไม่ได้เลวทุกคน การกำหนดนโยบายใดก็ตามแบบเหมารวมเพื่อให้นักการเมืองอ่อนแอ จะไม่ใช่การสกัดคนเลว แต่กลายเป็นการขจัดคนดีที่ทำงานอย่างซื่อสัตย์ในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนด้วย” นายบุญยอด กล่าว