คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จัดงานมหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ ขายสินค้าธงฟ้า จัดการแสดง พร้อมฉายหนัง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” ตั้งแต่ภาคแรก ขณะที่ช่วงเช้ามีการตักบาตร แกนนำม็อบสองขั้วเกี่ยวก้อยชื่นมื่น “สมเด็จช่วง” เทศนาเชื่อปรองดองได้หากรักษาศีล 5
วันนี้ (22 ก.ค.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดงานมหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ ที่บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งจะจัดขึ้นไปจนถึงวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยวันแรกมีกำหนดการในช่วงเวลาตั้งแต่ 17.30 น. มีการแสดงของวงดนตรีออร์เคสตราจาก 4 เหล่าทัพ จากนั้นเวลา 18.25 น. ฉายวิดีทัศน์ ชุด “การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ” การแสดงเพลงชุด “วันพรุ่งนี้” และเพลง “”สามัคคีชุมนุม” การแสดงเพลงชุด “อิฐเก่าเล่าตำนาน” ตามด้วยการแสดงเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” จากนั้นเวลา 19.00 น. เป็นการแสดงบนเวทีจากวงดนตรีออเคสตรา ร่วมกับศิลปินดาราจากค่ายต่างๆ และเวลา 20.00 น. ฉายภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 1”
วันที่ 23 ก.ค. เริ่มงานในเวลา 17.30 น. กิจกรรมสวดมนต์ขอพรเพื่อความสุขของศาสนาอิสลาม 18.30 น. การแสดงจากกระทรวงศึกษาธิการ - การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนดารานักแสดง 20.00 น. ฉายภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 2” วันที่ 24 ก.ค. เริ่มงานในเวลา 18.30 น. เสวนาองค์ความรู้ แนวทางการปฏิรูปและปรองดอง 19.00 น. การแสดงดนตรี 20.00 น. ฉายภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 3” ส่วนเวลา 21.00 น. จบการแสดงบนเวทีด้วยบทเพลง “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 25 ก.ค. เวลา 18.00 น. การแสดงดนตรีจากกระทรวงศึกษาธิการ 18.30 น. เสวนาองค์ความรู้เรื่อง การปฏิรูปและปรองดอง 20.00 น. ฉายภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 4”
สำหรับบรรยากาศที่ท้องสนามหลวงก่อนเริ่มงาน ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ได้มีการจัดเต็นท์ร้านค้าธงฟ้า จำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษ อาทิ น้ำมันพืช จำกัดคนละไม่เกิน 3 ขวด ผลไม้ราคาถูก ทั้งยังมีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองการแพทย์ กองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งโต๊ะแจกแว่นสายตายาวฟรี วันละ 1,000 อัน โดยมีแพทย์ให้บริการตรวจโรคทั่วไปอีกด้วย ขณะที่บริเวณเวทีใหญ่ที่ใช้ในการแสดงวงดนตรีออร์เคสตรา ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้ท้องสนามหลวงกลายเป็นการแสดงดนตรีสุดอลังการ
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีพื้นที่ในการจัดงานทั้งหมด 4 เต็นท์ สามารถเข้าชมงานและรับบริการฟรีจากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนถึง 20.00 น. โดยนำกิจกรรมเด่นของหน่วยงานในสังกัด รวม 9 หน่วยงาน มาให้บริการประชาชนฟรีตลอดงาน โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันจัดบริการนวดคลายเครียด นวดอโรมา ฝังเข็มแพทย์แผนจีน แจกยาสมุนไพรไทย และนิทรรศการให้ความรู้การดูแลสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. จัดโมบาย ยูนิต (Mobile unit) บริการตรวจหาสารปนเปื้อนต่างๆ ในอาหาร เครื่องสำอาง กรมอนามัย ให้บริการตรวจสมรรถภาพร่างกาย ดูการทำงานของปอด
กรมการแพทย์ให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด กรมสุขภาพจิต บริการตรวจประเมินความสุขของประชาชน เซียมซีความสุข เล่นเกมและแจกของรางวัล จัดนิทรรศการ และแจกเอกสารแผ่นพับให้ความรู้เรื่องการสร้างความสุข และกรมควบคุมโรคให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, ไตวาย, มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด, เบาหวาน, ธาลัสซีเมีย, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ บุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และ เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี พร้อมทั้งแจกทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยองค์การเภสัชกรรมได้จำหน่ายยาสามัญประจำบ้านและครีมบำรุงผิวต่างๆ ในราคาถูกเป็นพิเศษ
ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แจ้งว่า ขสมก. ได้จัดเดินรถโดยสารฟรี 3 เส้นทาง ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - สนามหลวง วงเวียนใหญ่ - สนามหลวง และวงกลมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่จะเดินทางไปร่วมงานมหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ ณ บริเวณท้องสนามหลวง
อนึ่ง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ผู้แทนจากส่วนราชการและกระทรวงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและนักการเมือง เช่น นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล และอดีต รมว.วัฒนธรรม นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังมีกลุ่มบุคคลจากความขัดแย้งต่างๆ อาทิ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำ นปช. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) เป็นต้น เข้าร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 99 รูป โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม ได้ให้ธรรมเทศนาให้คำขวัญกับประเทศไทย ว่า “เราเป็นคนไทยจิตใจบริสุทธิ์ พุทธศาสตร์มั่นคง ดำรงภูมิพล” และเห็นว่าเป็นความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงของหัวหน้า คสช. ที่ต้องการสร้างความปรองดองของคนในชาติอย่างแท้จริง เห็นได้จากความร่วมมือทุกภาคส่วน และเชื่อว่าคนในชาติจะมีความสุข ทั้งนี้ ความปรองดองจะเกิดขึ้นหากคนไทยร่วมกันรักษาศีล 5 และสำนักพุทธศาสนาจะร่วมขับเคลื่อนการปรองดองด้วยการรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยปฏิบัติศีล 5 ทุกหมู่บ้าน เป้าหมาย 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ โดยจะมอบป้ายหมู่บ้านรักษาศีลให้กับหมู่บ้านที่ปฏิบัติได้ตามเป้าหมาย
พล.ท.กัมปนาท ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชนนั้น จะลดความถี่ลงเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 เพราะจะเน้นเนื้อหาสาระมากขึ้น และจะเปิดเวทีให้แต่ละกลุ่มมาแสดงความคิดเห็นว่าอยากให้ คสช. ทำอะไร โดยจะให้มีแม่ทัพภาคเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดเวทีดังกล่าวในส่วนของตัวเองก็จะเดินทางไปร่วมกิจกรรม ส่วนจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่นั้นเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับตน ซึ่งจะต้องนำไปพูดคุยกันในสภาปฏิรูปว่าต้องการให้มีการนิรโทษกรรมหรือไม่เพราะบางคนติดคุกมา 2 - 3 ปี ก็ไปพูดคุยกันว่าถึงเวลาหรือยังที่จะนิรโทษกรรม เช่น กรณี นายเนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจำคุกกว่า 20 ปี ก่อนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในภายหลัง ทั้งนี้ การนิรโทษกรรม มี 4 ขั้นตอนคือ ขั้นแรกคือ กระบวนการพิสูจน์หาข้อเท็จจริง และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลประทบสุดท้ายคือการนำไปสู่การนิรโทษกรรม แต่ที่ผ่านมาในสังคมไทยมีปัญหาไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องไปพูดกันในสภาปฏิรูปเรื่องการยอมรับของคนในสังคม อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการเลือกตั้งจะเชิญนักการเมืองและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาลงนามเอ็มโอยูเพื่อทำสัญญาประชาคมว่าจะสานต่อการปฏิรูปประเทศ