xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ห่วงปีนี้แล้ง น้ำไม่พอใช้ หวังพายุฝนเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กตู่” ห่วงน้ำในเขื่อนไม่พอใช้ เกิดภาวะแห้งแล้ง หวังพายุเข้าไทยทำปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือพายุฝน พร้อมสั่งเดินหน้างบประมาณปี 2558 มอบ คตร.ตรวจสอบความโปร่งใส เรียกร้องทุกหน่วยงาน คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน วันนี้ (22 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคสช.ครั้งที่ 7/2557 โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายความมั่นคง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. พร้อมด้วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหัวหน้าส่วนงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพีรียง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงสถานการณ์ของพายุฝนที่จะเข้าประเทศไทยว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร ได้เพิ่มความระมัดระวังตั้งศูนย์เตือนภัยเพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่าปีนี้มีโอกาสที่ปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าปกติ พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศเหลือเพียงร้อยละ 30 โดยเฉพาะเขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำที่ใช้การได้อีกเพียงร้อยละ 4 ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า การปลูกข้าว จึงมีโอกาสที่ประเทศจะประสบกับภาวะความแห้งแล้ง

ทั้งนี้ คาดว่าพายุจะเข้าประเทศไทยในช่วงเดือน ส.ค.- ต.ค. และน่าจะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีมากขึ้น ได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยาไปพิจารณาเรื่องของการทำฝนหลวงแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.ได้ดำเนินการประชุมเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งในการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558 งบลงทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงงบอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศควบคู่ไปกับการตรวจสอบความโปร่งใส โดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)

สำหรับการจัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้มอบหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปดำเนินการ เพื่อลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และยังให้มีการประชาสัมพันธ์ในการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ถือเป็นวิธีการออมเงินที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ทดแทนกองทุน LTF ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2559

อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น