คณะทำงานเศรษฐกิจ ปชป.แนะ คส.ปฎิรูปภาษีทั้งระบบ เริ่มจากบีโอไอ ด้วยการรื้อหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ เลิกให้แบบสากกะเบือยันเรือรบ ระบุปี 57 รัฐสูญรายได้ 3.1 แสนล้าน คาดปี 58 สูญอีก 3.4 แสนล้าน แต่ไร้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า บีโอไอกลายเป็นแหล่งวิ่งเต้น ยก “ไอพีสตาร์” ยุค “ทักษิณ” เป็นตัวอย่าง หวัง คสช.ใช้อำนาจพิเศษ วางระบบใหม่
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณี คสช.ออกประกาศคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเพราะทำมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2542 บางรัฐบาลยืดเวลา 1 ปี แต่บางรัฐบาลก็ยืดระยะเวลาออกไปเป็น 2 ปี ส่วน คสช.คงไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี กำหนดให้ปรับเป็น 10% ในเดือนตุลาคม 2558 ดังนั้นหากจะมีการปรับปรุงมาตรการทางภาษีควรทำทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาจากนโยบายประชานิยม จึงขอเสนอให้มีการปฏิรูปหลักการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากหลักเกณฑ์ไม่แน่นอน
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2558 รัฐขาดรายได้จากการส่งเสริมการลงทุนถึง 3.4 แสนล้านบาท ส่วนปี 2557 รัฐเสียรายได้จากภาษีส่วนนี้ 3.1 แสนล้าน เป็นมูลค่าที่มากกว่าจำนวนเงินที่เก็บจากภาษีบุคคลธรรมดา เพราะในขณะนี้ยกเว้นภาษีแบบสากกะเบือยันเรือรบมีถึง 243 ประเภทโครงการ
นายอรรถวิชช์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนในรัฐบาลเลือกตั้งต้องยอมรับว่าทำได้ยาก แม้แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มียุทธศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงก็ยังดำเนินการไม่ได้ ทั้งนี้เห็นว่าการส่งเสริมการลงทุนควรจะกำหนดหลักเกณฑ์ต้องเป็นการลงทุนจากต่างชาติที่มาถ่ายทอดเทคโนโลยีในไทย แต่ขณะนี้บริษัททำหนังสติ๊ก ชาเขียว ยังขอบีโอไอ ยังดีที่ คสช.ปฏิเสธการขอบีโอไอจากอิชิตัน ดังนั้นหากจะปรับปรุงภาษีควรพิจารณาจากบีโอไอ โดยกระทรวงการคลังและบีโอไอควรจะพิจารณาร่วมกันซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
อีกทั้งบีโอไอยังกลายเป็นการวิ่งเต้นทางการเมืองในหลายเรื่องด้วย เพราะเป็นเหมือนซูเปอร์บอร์ดมีปลัดถึง 4 คน มีรัฐมนตรีอยู่ถึง 3 คน ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนจึงต้องสอดรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และต้องมีการรายงานว่าแต่ละปีจะสูญเสียรายได้จากการส่งเสริมการลงทุนเท่าไหร่ คือกำหนดเป้าให้ชัดเจนว่าเสียอะไรและจะได้อะไรกลับมาตอบแทนจากการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว โดยพิจารณาเป็นรายโครงการแทนที่จะทำให้การส่งเสริมการลงทุนกลายเป็นเรื่องการวิ่งเต้นจากฝ่ายการเมืองหรือหลุมดำในการวิ่งเต้น เพราะมีการพิจารณาปรับกฎเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุนอยู่ตลอดเวลา และอยากให้มองย้อนถึงปัญหาการขอส่งเสริมการลงทุนกรณีไอพีสตาร์ที่ทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งเป็นประธานการประชุมและมีมติที่ธุรกิจของตนเองได้ประโยชน์
“มีบทวิจัยระบุว่า บริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทยถึง 81% ไม่สนใจว่าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ แต่มองว่าบีโอไอเป็นของแถม เพราะประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่ดี มีอิสระในการใช้ชีวิต จึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์แต่ไม่ได้ถึงขนาดเสนอให้ยุบบีโอไอเพราะยังเห็นว่ามีความจำเป็นในการส่งเสริมการลงทุนที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีแต่ต้องไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ จึงหวังว่าเมื่อ คสช.มีความตั้งใจที่จะปฏิรูปภาษีก็อยากให้มองบีโอไอเป็นหลักแทนการขึ้นภาษีตัวใดตัวหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง”