ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มมีเสียงโวยวายล้งเล้งสวนเข้ามาทันควันจากบรรดานักการเมืองหรือจะเรียกว่านักเลือกตั้งก็ว่าได้ ประสานเสียงคัดค้านข้อเสนอแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายการเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอกรอบกว้างๆมาให้พิจารณาจำนวน 6 ข้อ
โดยประเด็นสำคัญก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. คุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ลักษณะต้องห้าม การกำหนดวาระ ข้อกำหนดเกี่ยวกับพรรคการเมือง หรือแม้แต่เรื่องการเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง เป็นต้น ซึ่งจากการแถลงของ เลขาธิการ กกต. ภุชงค์ นุตราวงศ์ เปิดเผยว่า ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศุภชัย สมเจริญ ได้ลงนามในข้อเสนอดังกล่าวจำนวนประมาณ 10 หน้ากระดาษส่งไปถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่านี่เป็นเพียงข้อเสนอในหลักการกว้างๆ ยังไม่มีการสรุป โดยมีการนำเสนอข้อดีข้อเสียเพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนการระดมความเห็นอย่างรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง
แล้วก็ตามคาดหมาย เมื่อมีนักการเมืองที่คว่ำหวอดอยู่กับการเลือกตั้งต่างเริ่มดาหน้าออกมาคัดค้านแนวทางปฏิรูปการเลือกตั้ง และจำกัดการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาแทบจเรียกว่าทันควันเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าหากพิจารณาจากความรู้สึกของพวกนักการเมือง มันก็พอเข้าใจได้ เพราะไม่ว่าเรื่องใดก็ตามหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กระทบ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ต้องโอดโอยโวยวายด้วยกันทั้งสิ้น
แต่ขณะเดียวกัน หากพิจารณาเฉพาะนักการเมือง อาจไม่อยู่ในข่ายที่เรียกว่า “อาชีพ” เพราะตามหลักการแล้วต้องถือว่าเป็น “ผู้เสียสละ” เพื่อเข้ามารับใช้ชาติ รักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างเป็นตรงกันข้าม
เพราะคนพวกนี้กำลังยึดการเมืองเป็นอาชีพ กลายเป็น “ธุรกิจการเมือง” เพื่อใช้การเมืองเป็นใบเบิกทางเพื่อเข้ามาแสวงหาอำนาจแล้วสร้างความร่ำรวย บางคนจากที่ร่ำรวยอยู่แล้วก็ยิ่งรำรวยผูกขาดขึ้นไปอีก
กลายเป็นว่านักการเมืองพยายามรักษาอำนาจรักษา สถานะของตัวเองเอาไว้จนถึงที่สุด คิดกันเลยเถิดว่าหากบ้านเมืองขาดพวกเขาแล้วจะต้องไปไม่รอด ถึงขั้นฉิบหายเลยก็ได้ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่เห็นนักการเมืองในบางจังหวัดที่แทบจะกลายเป็นเจ้าของ แม้ตัวเองไม่ได้ลงสนามก็ส่งลูกเมีย เครือญาติหรือแม้แต่บริวารมาสืบทอด เป็นนอมินีขัดตาทัพก็มีให้เห็นตลอดเวลา
บางคนเป็นสัญญลักษณ์แห่งการโกง แต่ก็ยังไม่วายที่จะสร้างอิทธิพล คิดจะตายคาเก้าอี้ ไม่ยอมปล่อยวาง หรือเสียสละในทางการเมืองแต่อย่างใดไม่
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือสาเหตุที่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในครั้งนี้ก็ล้วนมาจากสาเหตุจาก นักการเมืองที่ห่วยแตก จนสร้างความรังเกียจให้กับชาวบ้านที่มีความตื่นตัว และรู้เท่าทัน และฉลาดกว่านักการเมืองขี้โกงพวกนั้น
แต่ด้วยความที่นักการเมืองยังมีอำนาจรัฐ มีกลไกข้าราชการชั่วเป็นเครื่องมือจึงนำไปสู่การยื้อและขัดขวาง ไม่ยอมคายอำนาจที่ไม่ใช่ของตัวเองออกไปง่าย จนนำมาสู่การใช้อำนาจพิเศษอย่างที่เห็นกันอยู่ แม้ว่านาทีนี้ก็ยังไม่อาจสรุปชัดได้ว่าจะดีหรือร้ายในวันหน้า แต่ก็อย่างน้อยเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นบ้างแล้ว
โดยเฉพาะคำประกาศของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่าต้องปฏิรูปทุกภาคส่วน ซึ่งหนึ่งในภาคส่วนนั้นก็คือ การปฏิรูปเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมือง ที่ก่อนหน้านี้เปิดช่องให้เข้ามามาใช้อำนาจโดยมิชอบ เกิดการทุจริต สร้างปัญหาวุ่นวาย
ดังนั้น เพียงแค่ข้อเสนอเบื้องต้นของ กกต.ที่มีเรื่องของการจำกัดวาระการเป็น ส.ส. ไม่ให้เกิน 2 วาระหรือไม่เกิน 8 ปี เพียงแค่นี้บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายก็ทำท่าชักดิ้นชักงอกันเสียแล้ว อ้างสารพัดว่านี่คือการจำกัดสิทธิ ยังอ้างไปถึงหลักสากลว่าไม่เคยมีที่ไหนทำกันแบบนี้ มีแต่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของ นายกฯและประธานาธิบดีเท่านั้น มันก็ใช่ตามหลักการมันก็น่าจะขึ้นอยู่กับประชาชน ตามหลักประชาธิปไตยหากชาวบ้านยังเลือกอยู่ก็น่าจะเป็น ส.ส. กันไปจนตายคาเก้าอี้
แต่มองอีกด้านหนึ่งบ้าง หากการเมืองเป็นเรื่องของ “ความเสียสละ” อาสาเข้ามารับใช้ประชาชน ใช้ความรู้ความสามารถเข้ามาพัฒนาบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ หากไม่ได้มุ่งหวังอย่างอื่นระยะเวลา 8 ปี หรือสองวาระในการดำรงตำแหน่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว เปิดทางให้คนอื่น หรือสนับสนุนคนดีคนอื่นขึ้นมาแทนบ้าง เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ยังสามารถใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ให้คำแนะนำรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่
เมื่อรับฟังเหตุผลของ บรรดารนักการเมืองพวกนี้ที่ขัดขวางไม่ให้มีแนวความคิดดังกล่าว พูดไปพูดมาก็สรุปได้ว่าเป็นการขัดขวางการเข้าสู่อำนาจของพวกเขา ถึงขั้นยกตัวอย่างเลยเถิดว่า หากหัวหน้าพรรคของพวกเขาเป็น ส.ส.มาถึงสองสมัยแล้ว เป็นฝ่ายค้านมา 8 ปี แล้วสมัยที่สามมีโอกาสได้เป็นนายกฯแต่ถูกกฎหมายห้ามเอาไว้อย่างนี้ก็ทำให้เสียสิทธิ์ อะไรประมาณนี้ สิ่งเหล่านี้ถือว่าคิดเข้าข้างตัวเองคิดราวกับว่าถ้าขาดคนพวกนี้บ้านเมืองจะพัฒนาไปไม่ได้ ซึ่งทางที่ดีควรที่จะหุบปาก นั่งอยู่เฉย รอชาวบ้านเขาเสนอความเห็นและสรุปออกมาเสียก่อน หากผลออกมาไม่พอใจ อึดอัดก็ไม่ต้องเข้ามา ไปทำอาชีพอื่นดีกว่า
ดังนั้น หากมีการปฏิรูปการเมือง ก็ไม่ต้องฟังนักการเมือง ฟังได้แต่ไม่ควรให้น้ำหนัก เหมือนกับการจะปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปข้าราชการ หากให้คนพวกนี้มีส่วนร่วมมันก็ยากที่จะเกิดผล เพราะต้องรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ สิ่งที่เหมาะสมที่สุดก็คือให้สังคม ที่ได้รับผลกระทบเป็นคนออกแบบระดมความเห็นอย่างรอบด้านน่าจะดีกว่า!!