“ปานเทพ” เสนอวิธีปฏิรูปพลังงานต้นน้ำ ย้ำต้องเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปใช้แบบแบ่งปันผลผลิต โดยแบ่งปิโตรเลียมให้รัฐ 70-80% เอกชน 20-30% หากไม่มีใครเอาด้วย ให้กรมพลังงานทหารเข้าสำรวจขุดเจาะแทนทันที พร้อมแนะ 3 เหล่าทัพตรวจสอบเจ้าของแท่นขุดว่าเป็นเจ้าของเองหรือเช่ามา และให้ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบความโปร่งใส เพื่อจัดการบริษัทที่ให้ข้อมูลเท็จ หรือทำนอกเหนือสัญญา
วันนี้ (2 ก.ค.) เมื่อเวลา 24.10 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำรุ่น 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีหัวข้อว่า ข้อเสนอการปฏิรูปพลังงาน “ต้นน้ำ” ง่ายๆ และตรงไปตรงมา
โดยระบุว่า “เนื่องจากมีกระแสความพยายามในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนต่างๆ โดยอ้างว่าปริมาณสำรองเรากำลังจะลดน้อยลง ผมเห็นว่าสิ่งที่น่าจะดำเนินการ มีดังนี้
1. ยุติการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จนกว่าจะมีการยกเลิกและแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เสียก่อน
2. ยุติการต่ออายุสัญญาสัมปทานในแปลงปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุ
3. ให้กองทัพบก เรือ อากาศ ดำเนินการตรวจสอบเจ้าของแท่นขุดเจาะว่าเป็นเจ้าของแท่นหรือเช่าจากรายอื่น พร้อมให้ภาคประชาชนรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อการจัดการที่รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ หากพบการสำแดงปริมาณสำรวจขุดเจาะเท็จ หรือลักลอบสำรวจขุดเจาะนอกเหนือการประมูล หรือกระทำการที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ให้ดำเนินคดีอาญา และดำเนินคดีความแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายย้อนหลัง ยุติการให้สัมปทาน และให้ขึ้นบัญชีดำมิให้เข้ามาร่วมประมูลหรือลงทุนในกิจการปิโตรเลียมอีก
4. ให้เปลี่ยนระบบจากระบบสัมปทานซึ่งค่าภาคหลวงขึ้นอยู่กับราคาขายและปริมาณของผู้รับสัมปทานแจ้งมา (ซึ่งอาจเกิดการฉ้อฉลด้วยการแจ้งปริมาณเท็จหรือขายราคาถูกๆ ให้บริษัทลูกเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาคหลวง) ให้เปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตทั้งหมด
อ่านข้อแตกต่างระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.678637408855769.1073741841.482181251834720&type=3
5. ให้เปิดการประมูลแบ่งปันผลผลิตในการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม โดยหลังหักค่าใช้จ่ายของผู้ลงทุนแล้ว (ตามที่กำหนดเงื่อนไขในการประมูล) กำหนดให้แบ่งปันปิโตรเลียมให้รัฐ 70-80% และให้เอกชน 20-30% เท่ากับประเทศมาเลเซีย หากไม่มีผู้ใดเข้าดำเนินการดังกล่าว ให้ถือว่าปิโตรเลียมเป็นกิจการความมั่นคงของรัฐ ให้ขยายภารกิจกรมพลังงานทหารเข้าดำเนินการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมแทนทันที โดยให้ 30% ของกำไรที่ได้เป็นสวัสดิการของข้าราชการทหาร และ 70% ตกเป็นของรัฐ และแปลงสัมปทานที่ใกล้หมดอายุและต่ออายุเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตในวิธีการนี้เช่นกัน”